เศรษฐกิจ-การเมือง-ตลาดหุ้น

ปัญหาการเมืองเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาระยะสั้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงต้องแยกแยะเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นขั้นตอน ถ้าเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จะทำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นด้วยความสบายใจ


สภาแมงเม่า: ดร.สมชาย

 

วันนี้อาจารย์ขอยกข้อความที่เคยส่งให้กับนักลงทุนรายย่อยหลายครั้งในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองยังมีเรื่องให้ลุ้นกันตลอดเวลา เพื่อให้นักลงทุนมีสติในการลงทุนมากขึ้น เพราะอาการร้อนรนเทขายอย่างไม่คิดชีวิต ย่อมทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการลงทุน ซึ่งทำให้อาจารย์ต้องออกมาพูดเรื่องนี้เป็นประจำ และดุเหมือนว่า พอข้อมูลดังกล่าวไปถึงมือนักลงทุนในวันถัดไป สถานการณ์ตลาดหุ้นดีขึ้นทันทีครับ

ก่อนอื่นต้องยอมรับตลาดหุ้นกับการเมืองมีความสัมพันธ์กันทั้งในแง่ของข่าวใน “เชิงบวก” และ “เชิงลบ” ซึ่ง สะท้อนได้จากในช่วงที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยจะมีความอ่อนไหวกับสถานการณ์การเมืองมาตลอด แต่ขณะเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในแต่ละครั้ง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

 

เนื่องจากเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างดี ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการลงทุนมากกว่าเรื่องไหนๆ นะครับ

โดยข้อมูลในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ ได้ผ่านเหตุการณ์ รัฐประหาร 5 ครั้ง ยุบสภาอีก 7 ครั้ง แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพียังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะดุดเพียง 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และปี 2550-2551 ในวิกฤติซับไพร์ม และเลแมนบราเดอร์ส ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ

สำหรับดัชนีตลาดหุ้น ในช่วงที่การเมืองรุนแรงที่สุด คือ ช่วงพฤษภาทมิฬระหว่าง 17-19 พ.ค. 2535 ดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านั้นปรับลง 19% แต่ทันทีที่เหตุการณ์สงบลง ดัชนีปรับขึ้น 13% ในช่วง 1 เดือนหลังจากนั้น

ขณะที่เหตุการณ์ รัฐประหาร รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ดัชนีปรับลงมากสุดเพียง 3% เพียง 1 สัปดาห์เศษหลังการรัฐประหาร แต่หลังจากนั้น ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 เดือน แต่ก่อนหน้าการรัฐประหาร ซึ่งมีความวุ่นวาย และข่าวคราวอย่างมากในตลาดหุ้นลง 10% อยู่ประมาณ 4 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการรัฐประหารกลุ่มเสื้อแดงมีการนัดชุมนุมทั้งใหญ่ และย่อยหลายครั้ง โดยในปี 2552 มีการชุมนุมครั้งใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่หลังจากการชุมนุมในแต่ละครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์ในเดือน เม.ย. ดัชนีแทบจะปรับขึ้นในทันที พร้อมด้วยนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิถึง 3.8 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลทั้งหมดทำให้รู้ว่า ปัญหาการเมืองเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาระยะสั้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงต้องแยกแยะเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นขั้นตอน ถ้าเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จะทำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นด้วยความสบายใจ

ที่สำคัญหากยังไม่แน่ใจในทิศทางของการลงทุน นักลงทุนอาจรอให้ดัชนีเด้งขึ้น แล้วค่อยซื้อตามก็ได้นะครับ

Back to top button