ยุทธการ ดันดารา

      รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนักการตลาดโดยพื้นฐาน จึงขยันหา "จุดขาย" ทางด้านนโยบายมาขับเคลื่อนเป็นระยะๆ (ส่วนใหญ่ได้ผลต่ำ แต่อ้างว่าได้ผลเลิศ)


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนักการตลาดโดยพื้นฐาน จึงขยันหา “จุดขาย” ทางด้านนโยบายมาขับเคลื่อนเป็นระยะๆ (ส่วนใหญ่ได้ผลต่ำ แต่อ้างว่าได้ผลเลิศ)

ประเด็นสำคัญของการ “ขายฝันทางการตลาด” คือจุดขาย กับข้อเท็จจริงแวดล้อม บางครั้งก็ไปด้วยกันไม่ได้เสมอไป เพราะฝืนธรรมชาติ หรือปฏิบัติยาก จนเข้าข่ายดันทุรัง จนอาจจะกลายเป็น “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา”

เรื่อง การสนับสนุนธุรกรรมฟินเทค และสตาร์ทอัพ ก็ดูเหมือนจะเข้าข่ายนี้ แม้จะดันทุรังถูไถว่า เป็นไปตามโรดแมปเศรษฐกิจ 4.0 ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด พยายามขายแนวคิดและพยายามขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องสตาร์ทอัพ ถึงขั้นเคยสั่งให้ ก.ล.ต. ใช้เวลาศึกษาหลักเกณฑ์ตั้งตลาดหุ้น Start Up พร้อมเริ่มต้นได้ในปี 2560 โดยแยกจาก SET และตลาด mai โดยให้เหตุผลว่า

– ธุรกิจเหล่านี้ต้องการเงินทุนและการร่วมทุนอีกจำนวนมาก

– หากมีตลาดหุ้น Start Up กลุ่มธุรกิจเกิดใหม่จะตื่นตัวสูงขึ้น และเกิดการระดมทุนมากขึ้น

– ให้วางกรอบนโยบาย และหลักเกณฑ์การจดทะเบียนนั้นสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

– เป้าหมายต้องทำงานเชิงรุก คือ หาบริษัทจดทะเบียนใหม่ๆ ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ไม่ใช่แค่รอบริษัทเป้าหมายเข้ามาจดเอง

– ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจเกิดใหม่ ทุนจดทะเบียนต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีการกำหนดกรอบเฉพาะและคุณสมบัติของนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นประเภทนี้

อาจจะเป็นเพราะเจตจำนงทาง  “นโยบาย” (โดยอ้างว่าไม่ใช่การเมือง) เช่นนี้ ทำให้จู่ๆ เราก็ได้เห็นการผลักดันตั้ง CMDF (กองทุนพัฒนาตลาดทุน) เวอร์ชั่นล่าสุดที่ ก.ล.ต. ขานรับกระทรวงการคลัง ตามที่นายสมคิดสั่งการลงมา

สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ตั้ง CMDF เท่าที่ประมวลย่นย่อมาได้คือ 1) เอากำไรสะสมของตลาดหลักทรัพย์มาประมาณ 8.0 พันล้านบาท ตั้งต้นกองทุน 2) เอา 90% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกปี (ปีละ 1.5-1.6 พันล้านบาท) ไปเข้าคลังและกองทุนในสัดส่วน 90% และ 10% ตามลำดับ โดยอ้างว่า จะเอาไปปั้นสตาร์ทอัพมาเข้าตลาด โดยผ่านรูปแบบกองทุนร่วมเสี่ยง หรือ เวนเจอร์แคปปิตอล (VC)

แค่ 2 ข้อของสาระหลักนี้ ก็ชวนตะลึงแล้วว่า งานนี้คือการ “ปล้นกลางแดด” (แบบพาดหัวข่าวสัปดาห์ก่อนของข่าวหุ้นธุรกิจ) ชัดเจน

กำไรสะสมที่ตลาดหลักทรัพย์เคยมีเอาไว้เพื่อรองรับแผนพัฒนาตลาดในอนาคตที่คาดว่าจะเติบโตอีกมากก็ถูกฉกเอาไปก่อตั้งกองทุนเริ่มแรก และกำไรสุทธิแต่ละปีก็ถูก “เค้น” ไปเกือบเหี้ยน คือยุทธการบอนไซตลาดหลักทรัพย์ไม่ให้เติบโตที่ชัดเจน

คำถามต่อไปคือ เงินกำไรสุทธิของตลาดที่ถูกหักเข้ากระทรวงการคลัง จะเอาไปทำอะไร ตอบล่วงหน้าเลยว่า จะต้องละลายไปกับกระบวนการงบประมาณปกติ ไม่ได้เอามาทำอะไรกับสตาร์ทอัพหรอก

คำถามท้ายสุดคือ แล้ว CMDF ที่มีทุนแรกตั้ง 8.0 พันล้านบาท ผสมกับเงินสมทบอีกปีละประมาณ 150 ล้านบาท จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมีมากขึ้นจนเป็นอุปทานหรือสินค้าใหม่ให้กับตลาดทุนไทยในระยะยาวแค่ไหน ยังเป็นปริศนาล่องลอยในอากาศและฝันกลางวัน

เหตุผลก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งหลายในโลกรวมทั้งไทยนั้น เป็นธุรกิจที่เสี่ยงสูงมาก เพราะขาดคุณสมบัติที่ดีทางธุรกิจ 1) ขาดประสบการณ์เชิงลึก 2) ความฝันอันสวยหรูของผู้ประกอบการแต่ละรายยังไม่ได้รับการพิสูจน์ 3) ความชำนาญในการบริหารธุรกิจยังด้อย 4) ขาดแคลนเงินทุนถึงขั้นจับเสือมือเปล่า 5) อุตสาหกรรมเป้าหมายถูกกำหนดขึ้น จากจินตนาการของผู้กำหนดนโยบาย และต่างประเทศ ไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริงของธุรกิจ

ที่สำคัญคือ “เป้าหมายเชิงรุก” ของนายสมคิดนั้น คือมาตรการ “ดันดารา”  ที่สร้าง “ธุรกิจเล่นเส้น” ภายใต้การกำกับของรัฐ จะเกิดปรากฏการณ์  “ต้อนหมูเข้าเล้า” ที่ตรวจสอบได้ยากทวีคูณ

ในขณะที่บริษัท “ไร้เส้น” อีกจำนวนมาก ที่ไม่อยู่ในข่าย “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” แล้วต้องการระดมเงินทุนผ่านตลาดทุนสารพัดรูปแบบ ก็ต้องมะงุมมะงาหราไปหาที่ปรึกษาการเงินทั่วไปและบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหาทางเข้าตลาดโดยผ่านมาตรการสกัดกั้นที่เข้มงวดของ ก.ล.ต. (เช่นจะเข้าตลาด mai ต้องกำไรเกิน 10.00 ล้านบาทขึ้นไป หรือจะขาดทุนเพื่อเข้าตลาดหลักด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ต้องมีมาร์เก็ตแคปเกิน 5.0 พันล้านบาท) อย่างเลือดตากระเด็น

หากหักกลบเจตนาและการขับเคลื่อนรูปธรรมของนายสมคิดในเรื่องสนับสนุนสตาร์ทอัพกันในเบื้องต้น จะเข้าใจไม่ยากว่าปฏิบัติการอันดูเหมือนเจตนาดี ได้กลายเป็นการปล้นกลางแดด ที่นอกจากไม่ได้ส่งเสริมการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาวให้กับตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนโดยรวมแล้ว ยังกลายเป็นมาตรการที่ทำให้โครงสร้างตลาดบิดเบี้ยว จากการถูกบอนไซที่ชัดเจน

เลยไม่รู้ว่ามาตรการ “ดันดารา” นี้ คนกำหนดเอาส่วนไหนของร่างกายที่ไม่ใช่สมองคิด

Back to top button