วินโดว์ เดรสซิ่ง

  สองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาปิดบัญชีกลางปีของกองทุนรวม จะเป็นช่วงเวลาของปรากฏการณ์ที่วงการหุ้นเรียกกันว่า วินโดว์ เดรสซิ่ง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

สองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาปิดบัญชีกลางปีของกองทุนรวม จะเป็นช่วงเวลาของปรากฏการณ์ที่วงการหุ้นเรียกกันว่า วินโดว์ เดรสซิ่ง

ปีนี้คงไม่ต่างกัน  โดยเริ่มตั้งแต่วานนี้มาแล้ว เมื่อดัชนี SET สามารถทะลุข้าม 1,580 จุด โดยที่มูลค่าซื้อขายต่ำมากแค่ 3.7 หมื่นล้านบาท เหมือนเดิมในสัปดาห์ก่อนหน้า

ผลของวินโดว์ เดรสซิ่ง มักจะทำให้ราคาปิดหุ้นจำนวนมากในตลาดดูดีกว่าปกติเสมอ แต่หลายต่อหลายครั้ง สถานการณ์ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาจจะมีลูกเล่นที่ทำให้สถานการณ์แปรเปลี่ยนได้

คราวนี้ก็เช่นกัน นักวิเคราะห์ประเภทเก่งเทคนิคบางคนถึงกับกล้าพูดน่าไม่อายว่า ได้เวลาของภาวะกระทิงรอบใหม่แล้ว…ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ก็พูดไปแล้วจนได้ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

คำถามก็คือ แล้วนักลงทุนรายย่อย จะเรียนรู้เพื่อที่จะจับได้ไล่ทันว่า จะมีวินโดว์เดรสซิ่งเพื่อทำกำไรระยะสั้นได้หรือไม่

ก่อนตอบคำถามดังกล่าว ต้องย้อนกลับไปที่รากเหง้าของพฤติกรรม วินโดว์ เดรสซิ่ง

คำนี้ แรกเริ่มเดิมที มาจากศัพท์ที่ใช้กันในงานแต่งหน้าร้านของร้านค้าปลีก หรือ ร้านขายสินค้าแฟชั่นทั้งหลาย ที่พยายามตกแต่งหน้าร้านให้สวยหรูชวนฝัน เพื่อหลอกล่อให้ลูกค้าที่เดินผ่านไปมาตามท้องถนนเดินเข้าไปชมสินค้าภายในร้าน

ความหมายแรกเริ่มก็คือ การแต่งหน้าร้าน นั่นเอง

เมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบโดยนักการเงิน สาระก็ยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกัน นั่นคือ การตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดีเกินจริงชั่วคราว

ในทางการเงิน ความหมายของวินโดว์ เดรสซิ่ง มีความแตกต่างกันระหว่างในวงการบัญชี กับวงการหุ้น

ในวงการบัญชี ความหมายของวินโดว์ เดรสซิ่ง คือ การแต่งบัญชี ซึ่งมีความหมายทางลบ โดยถือเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “ลับลวงพราง” (Trojan Horse Tactic) โดยการเคลื่อนย้ายตัวเลขทางบัญชีในงบการเงินทุกอย่างเพื่อให้ดูดีเกินจริง ทำให้ดูเหมือนว่าบริษัทดูดี

ส่วนใหญ่แล้ว กรรมวิธีวินโดว์เดรสซิ่งทางบัญชี จะใช้กับกิจการที่มีปัญหาทางการเงิน และความสามารถของผู้บริหารหย่อนยาน จึงต้องใช้เล่ห์เพทุบายที่ฉ้อฉลทำให้ตัวเลขสวยงามเกินจำเป็นเพื่อปิดบังความไม่ปกติของกิจการ

ในวงการหุ้น วินโดว์ เดรสซิ่ง ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่เกิดขึ้นในวงการบัญชี เพราะคนที่ชอบใช้และจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์นี้ จะเป็นพวกผู้จัดการกองทุนทั้งหลายที่ลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุนเมื่อวันสิ้นงวดแต่ละไตรมาสดูดี ผลงานที่วัดกันได้จากวันสิ้นงวดไตรมาสของกองทุนแต่ละชนิด คือความจำเป็นที่จะต้องสร้างวินโดว์เดรสซิ่งขึ้นมา  วิธีการแต่งหน้าตา ก็คือการปรับพอร์ตการลงทุนที่มีทั้งขายและซื้อพร้อมกัน โดยผลลัพธ์ท้ายที่สุดก็คือการที่ทำให้มูลค่าของหน่วยลงทุนหรือสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย สวยงามมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเปรียบเทียบกับผลงานในไตรมาสก่อนหน้า หรือระยะเดียวกันของปีก่อน

ที่ต้องทำก็เพราะว่า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุนของกองทุนแต่ละแห่งนั้น เขาวัดกันที่ราคาตลาดของหุ้น (มาร์ก ทู เดอะ มาร์เกต -mark to the market) เป็นสำคัญ

การปรับพอร์ต  กลยุทธ์ “ปรับเปลี่ยน” (switching strategy) ก็คือ การเร่งขายหุ้นที่มีผลประกอบการไม่ดี หรือซื้อมาแล้วขาดทุนออกไป แล้วซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีหรือมีอนาคตสดใสเข้ามาแทนที่ หรือ กำลังจะประกาศผลประกอบการที่ดีเป็นพิเศษในช่วงใกล้สิ้นไตรมาส

การปรับพอร์ตถือหุ้นมีอนาคตสดใสขึ้น ละทิ้งหุ้นที่มีอนาคตย่ำแย่ออกไปจากมือ เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ใช่เรื่องประหลาด และไม่ควรจะถือเป็นเรื่องของการฉ้อฉลแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่มายาคติของนักลงทุนที่ไม่เข้าใจในกลยุทธ์การปรับพอร์ตของผู้จัดการกองทุน ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ต่อเนื่องมาว่า การทำวินโดว์เดรสซิ่ง คือการดันราคาหุ้น หรือการเข้าซื้อทางเดียวของกองทุนเพื่อให้หุ้นราคาวิ่งแล้วตัวเลขกองทุนดูดีกว่าปกติ

ความไม่เข้าใจเช่นนี้ ทำให้คนเชื่อกันว่า เมื่อวันสิ้นสุดงวดไตรมาสทุกครั้ง ดัชนีตลาดหรือหุ้นบลูชิพทั้งหลายในตลาดจะต้องถูกดันราคาหุ้นสูงขึ้น

หากข้อเท็จจริงตรงกันข้ามกับความเชื่อ คนที่เข้าใจผิดทั้งหลายก็จะพาลเชื่อว่า ไตรมาสนั้นๆ ไม่มีการทำวินโดว์เดรสซิ่ง ทั้งที่โดยความเป็นจริงเบื้องลึกแล้ว การทำวินโดว์เดรสซิ่งได้กระทำตลอดเวลา

การหาประโยชน์จากธุรกรรมวินโดว์เดรสซิ่งในตลาด จึงอยู่ที่จะต้องจัดการซื้อหุ้นที่คาดว่าจะมีผลประกอบการล่วงหน้าสวยงามกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน หรือดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา หรือ มีราคาต่ำกว่าบุ๊คเก็บเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อรอให้ผู้จัดการกองทุนเข้ามาซื้อเพื่อปรับพอร์ตในเวลาก่อนสิ้นไตรมาส แล้วก็ควรจะรีบขายหุ้นเน่า แม้จะเป็นหุ้นบลูชิพที่คาดว่าจะมีผลประกอบการย่ำแย่ลง ออกไปจากมือ ก่อนที่บรรดาผู้จัดการกองทุนจะขายก่อน

คำว่าแต่งให้ดูดี ของการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง จึงไม่ใช่ความหมายของการไล่ซื้อหุ้นอย่างเดียวตามที่เข้าใจกัน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่ชาญฉลาด ก็คงจะต้องดูด้วยว่า ทิศทางการลงทุนในพอร์ตลงทุนของบรรดาผู้จัดการกองทุนนั้น มุ่งไปทางทิศใด เช่น ก่อนจะสิ้นไตรมาส กองทุนมีการซื้อหุ้นเข้าพอร์ตจำนวนมากผิดปกติ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาจะทำวินโดว์เดรสซิ่งตอนปิดไตรมาส ก็น่าจะเป็นการขายออกเพื่อ “ตัดขาดทุน” ซึ่งเป็นการทุบราคามากกว่า

ความเข้าใจในเรื่องวินโดว์ เดรสซิ่งของตลาดหุ้น จึงไม่ได้หมายความถึง การปั้นแต่งราคา แต่เป็น การปั้นแต่งพอร์ตลงทุนต่างหาก

ความเชื่อและความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ต้องสังเกตกันเอาเอง

Back to top button