ZMICO มาร์จิ้นแพร่พิษ

ปีนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ใช่ปีทองแน่นอน เพราะมูลค่าซื้อขายประจำวันที่ค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับบริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง มีเรื่องร้ายแรงมากกว่าระดับ “ปกติ” ด้วย


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ปีนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ใช่ปีทองแน่นอน เพราะมูลค่าซื้อขายประจำวันที่ค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับบริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง มีเรื่องร้ายแรงมากกว่าระดับ “ปกติ” ด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนของความไม่ปกติดังกล่าว…ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ZMICO เพิ่งรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 60 (รวมบริษัทย่อย) ออกมาแล้วมีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 90.94 ล้านบาท หรือ ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท พลิกจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ29.94 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.023 บาท

ผลลัพธ์ของการขาดทุนในไตรมาสสอง แม้จะไม่กระทบทำให้กำไรสุทธิงวดครึ่งแรกของปี 2560 เสียหายเพราะยังมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เป็น 70.46 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 50.31 ล้านบาท แต่ก็ทำให้เกิดคำถามในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงของผู้บริหารอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุผลเพราะสาเหตุที่ทำขาดทุนสุทธิมาจากธุรกิจ 3 ด้าน ที่โยงเข้ากับมูลค่าของตราสารหนี้และตราสารทุนในตลาดทุน กล่าวคือ

  • การขาดทุนจากการรับรู้เงินลงทุนในบริษัทย่อยคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จำกัด ผู้บริหารตั๋วแลกเปลี่ยนระยะสั้นรายสำคัญของบริษัทเจ้าปัญหาอย่าง IFEC ที่เบี้ยวหนี้คนถือตัวเงินไปค่อนข้างมากอย่างอื้อฉาว) ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลง 44 ล้านบาทจากรายได้ค่าบริหารกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลที่ลดลงเพราะตลาดมีอาการไม่ปกติ
  • การลดลงของกำไรและผลตอบแทนจากพร็อพฯ เทรดรวม 26.44 ล้านบาท เป็นการลดลงจากตราสารทุน 22.43 ล้านบาท แตะกำไรเพิ่มขึ้นจากตราสารหนี้ 0.64 ล้านบาท
  • การรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทหลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วม ตามวิธีส่วนได้เสียเป็นจำนวนเงิน 85 ล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และลูกหนี้ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีหุ้น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เป็นหลักประกัน และหลักทรัพย์อ้างอิงในการซื้อขาย…โดยผู้บริหาร ZMICO ยอมรับว่ามูลค่าการตั้งหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว”…อาจมีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอนาคต…” ขึ้นอยู่กับกระบวนการประเมินและจัดการแผนฟื้นฟูของ EARTH

อย่างหลังสุดนี่แหละชวนให้ตั้งคำถามมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการปล่อยบัญชีมาร์จิ้นของธุรกิจหลักทรัพย์ให้กับลุกค้า “ขาใหญ่” ที่เป็นรายบุคคลนั่นเอง

ประเด็นของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่โยงเข้ากับหุ้น EARTH เป็นหลักประกัน และหลักทรัพย์อ้างอิงในการซื้อขาย สะท้อนให้เห็นความหละหลวมของบริษัทหลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ จำกัด ในขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายบุคคลที่ใช้การซื้อขายหุ้นผ่านบัญชีมาร์จิ้น (หรือที่เรียกให้ถูกต้องคือ credit balance นั่นเอง)….เพราะว่า หลังจากมีการใช้กระบวนการ “บังคับขาย” ไปแล้ว ปรากฏว่า ลูกค้ายังติดค้างวงเงินหนี้ที่มีอยู่กับบริษัทอีกบางส่วน เพราะเงินไม่เพียงพอต่อจำนวนวงเงินสินเชื่อมาร์จิ้นที่ปล่อยออกไป จึงต้องตั้งสำรองเผื่อเอาไว้ล่วงหน้า…ซึ่งไม่รู้ว่าบริษัทจะได้คืนครบถ้วนหรือไม่

ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย ก.ล.ต. บริษัทหลักทรัพย์จะต้องทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ และอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นสำหรับแต่ละหลักทรัพย์ที่บริษัทอนุญาตให้ลูกค้าซื้อและ/หรือนำมาเป็นหลักประกันเพิ่มในบัญชีโดยเปิดเผยเสมอ ซึ่งมีรายละเอียดของความแตกต่างกันตามลำดับชั้นของความเสี่ยงที่บริษัทประเมินเอาไว้…โดยมีเงื่อนไขกำกับว่า 1) ตัวใดบ้างที่ถูกห้ามไม่ให้ซื้อเพิ่ม แต่ทำมาเป็นหลักประกันได้ หรือ 2) ตัวใดให้ซื้อเพิ่มได้ แต่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกันเพิ่มได้ หรือ 3) ตัวใดไม่อนุญาตให้ซื้อเพิ่ม และ/หรือนำมาเป็นหลักประกันเพิ่มได้….เพื่อลดความเสี่ยง

คำถามคือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปล่อยให้ลูกค้ากู้เงินเพื่อเล่นบัญชีมาร์จิ้น (ซึ่งในยามปกติ จะมีการเยินยอว่ามีประโยชน์ต่อการลงทุนยิ่งกว่ายาสารพัดนึกทุกขนาน) ได้ทำตาม “หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำกับโดยคณะกรรมการตลาดทุน” มากน้อยแค่ไหน

คำตอบ….ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ย่อมรู้ดีแก่ใจมากกว่าใครๆ

การตั้งสำรองของ ZMICO จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการยอมรับสภาพความบกพร่องของตนเองจาก “เหตุสุดวิสัย” จาการที่ลูกค้าบางราย (ไม่ระบุจำนวน) ซื้อขายหุ้น EARTH ด้วยบัญชีมาร์จิ้น โดยมีหลักประกันที่ไม่เพียงพอ….หลังจากที่หุ้นดังกล่าวถูกบังคับขาย หรือ ฟอร์ซเซล

คำถามคือ มาถึงจุดนี้…ได้ยังไง

ผู้บริหาร ZMICO หรือ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ใครจะตอบก่อนกัน

อิ อิ อิ

 

Back to top button