ถามหาแผนบริหารน้ำ

หลังมหันตภัยน้ำท่วมหนักปี 2554 รัฐบาลประชาธิปไตยชุดล่าสุด เสนอแผนลงทุน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ


ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

หลังมหันตภัยน้ำท่วมหนักปี 2554 รัฐบาลประชาธิปไตยชุดล่าสุด เสนอแผนลงทุน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ

แต่ยังไม่ทันเปิดประมูลดี เกิดรัฐประหารเสียก่อนในปี 2557 รัฐบาลภายใต้อำนาจพิเศษ ประกาศไม่ทำโครงการใหญ่เหมือนรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม แต่จะทำเป็นโครงการขนาดเล็กแทน

เวลาผ่านเลยมา 3 ปี ก็ประจักษ์ชัดเจนว่า ใหญ่ไม่ทำอยู่แล้ว แต่เล็กนี่สิ ก็ไม่ทำเช่นกัน และก็เกิดน้ำท่วมใหญ่อีก แต่คราวนี้เกิดขึ้นที่ภาคอีสาน

ปรากฏวาทกรรมใหม่น้ำท่วมที่ไม่แพ้คำเรียก “น้ำท่วมขัง” เป็น “น้ำรอระบาย” ของชาวเมืองกรุง นั่นก็คือ “เขื่อนไม่แตก” แต่เป็น “น้ำกัดเซาะเขื่อน” แล้วก็เป็นรายงานเข้ามายังเจ้านายส่วนกลาง

ผลลัพธ์จริงที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำมันกัดเซาะเขื่อนซะจนไม่เหลือสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และมวลน้ำทั้งหมดก็ถาโถมลงมาท่วมบ้านเรือนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำชนิดชาวบ้านตั้งตัวไม่ติดและไม่มีการตระเตรียมรับมือใดๆ เลย

เพราะเชื่อในข่าวสารทางราชการว่าเขื่อนไม่แตกไง

เรื่องราวชวนหัวที่ขำไม่ออกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ท่านผู้นำให้โฆษกคู่ใจออกมาโทรโข่งว่า น้ำท่วมคราวนี้เกิดจากภัยธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดเหมือนปี 2554

โถ!นี่มันแค่พายุลูกเดียวนี่นะ แถมเป็นหางพายุซะอีก ยังอ่วมขนาดนี้ แต่ปี 2554 มันเป็นพายุเข้าตั้ง 7-8 ลูก

ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าปี 2554 มันก็มีการบริหารงานผิดพลาด รวมทั้งการประสานงานมั่วซั่วบ้าง แต่มันก็มีอุปสรรคปัจจัยอื่นที่น่าสงสัยด้วยล่ะ

อาทิเช่น ทำไมอุโมงค์ยักษ์กทม.ถึงไม่มีน้ำเข้าให้ไหลผ่านออกไปสู่ปากอ่าวปากทะเลกันเลย กลับกลายเป็น “อุโมงค์หลับ” เสียฉิบ

หรือทำไมไม่มีการปล่อยน้ำเข้าสู่กทม.ชั้นในตามลำคลองสำคัญเช่น คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร เพื่อให้น้ำระบายออกสู่เจ้าพระยาไปลงทะเลกันเลย เป็นต้น

ทีปัญหาตัวเองบอกว่าเกิดจากธรรมชาติ แต่ปัญหาคนอื่นบอกว่าเกิดจากการบริหารผิดพลาด เข้าทำนอง “ดีใส่ตัว ชั่วโยนใส่ผู้อื่น”

“ไม่แมน” เอาเสียเลยซะอีกโสดหนึ่งด้วย

เห็นว่า บ้านเมืองจะต้องมี “อำนาจพิเศษ” ปกครองกันไปเช่นนี้อีก 20 ปี จึงไม่อยากจะเห็นรัฐบาลที่เอาแต่รักษาทรง “พระเอก” ตลอดไปและโทษคนรวมทั้งปัจจัยอื่นอยู่ร่ำไป

มองเห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องตัวเองซะบ้าง ก็จะได้รู้จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไข

รัฐบาลชุดนี้ ละลืมแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบได้อย่างไรมาเป็นเวลาตั้ง 3 ปีกว่าแล้ว และเมื่อพ้นจากน้ำท่วมใหญ่อีสานครั้งนี้ไปแล้ว จะมีความดำริรื้อฟื้นแผนใหญ่จัดการน้ำขึ้นมาอีกไหมเนี่ย

การไปยืนชี้นิ้วสั่งการให้เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว นี่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดโดยแท้ ซึ่งถ้ามี “แก้มลิง” หรืออ่างเก็บน้ำที่จัดวางอย่างเป็นระบบ ก็จะได้มีน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

ไม่ใช่ปล่อยไหลลงแม่โขงไปฟรีๆ

นี่ขนาดน้ำท่วมภาคอีสานยังฉุกละหุกไม่เป็นขบวนเพียงนี้นะ ถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางโดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งใจจริงไม่อยากให้เกิด แต่ถ้ามันเกิดล่ะ

จะรับมือกันอย่างไรในพื้นฐานที่ละเลยแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมานานกว่า 3 ปี

X
Back to top button