หุ้น กับ ปิระมิด

ความผันผวนในลักษณะไซด์เวย์ของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้คนเริ่มถามหาทางเลือกของการเอาตัวรอดจากเกมตลาดหุ้น ทำให้ชื่อของ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ และทฤษฎีซื้อขายแบบปิระมิด กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ความผันผวนในลักษณะไซด์เวย์ของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้คนเริ่มถามหาทางเลือกของการเอาตัวรอดจากเกมตลาดหุ้น ทำให้ชื่อของ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ และทฤษฎีซื้อขายแบบปิระมิด กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง

เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ เป็นใคร

ลิเวอร์มอร์คิดค้นทฤษฎีซื้อขายหุ้นแบบปิระมิด จากประสบการณ์โชกโชนโดยพฤตินัยในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสงครามโลกครั้งแรก มีทั้งรวยมหาศาล และเจ๊งวินาศสันตะโรนับล้านๆ ดอลลาร์

ประสบการณ์จากการขายชอร์ตหุ้น ผู้ประกอบการรถไฟสาย ยูเนี่ยน แปซิฟิก ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก ในปี ค.ศ.1907 ทำกำไรมหาศาล 3 ล้านดอลลาร์ และทำแบบเดียวกันใน ค.ศ.1929 ก่อนตลาดวอลล์สตรีทพังทลาย ทำกำไรมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์

หลังจากนั้น เขากลับเข้าช้อนซื้อหุ้นในวอลล์สตรีทอีกครั้ง แต่ก็พบว่า ที่ว่าต่ำแล้ว ยังมีต่ำกว่า ทำให้ลิเวอร์มอร์ขาดทุนไปเกือบหมด ต้องขอยื่นต่อศาลเพื่อรับสภาพเป็นบุคคลล้มละลาย และถูกขับออกจากกรรมการตลาดชิคาโก

ประสบการณ์ดังกล่าว เป็นที่มาของทฤษฎีใหม่เรื่อง “ปิระมิด” ทั้งขาซื้อและขาย

ทฤษฎีของลิเวอร์มอร์ มีรากฐานคล้ายคลึงกับเบนจามิน แกรห์ม ที่มองเห็นความซับซ้อนของเกมตลาดหุ้น แต่มีทางออกของปัญหาต่างกัน

ลิเวอร์มอร์ มองว่า ตลาดหุ้นมีหน้าที่หลักคือ สับขาหลอกนักลงทุน (ทำนองเดียวกับงานเขียน “คุณตลาด” ของแกรห์ม) และพร้อมจะเล่นงานนักลงทุนให้เลือดสาดหรือ เป็นแผลเหวอะหวะได้ง่ายมาก

เหตุผล คือ เกมหุ้นนั้นมีปัจจัยชี้ขาดสำคัญคือเงินหน้าตัก มันหมายความถึงการเปิดช่องให้กับ “ขาใหญ่” ที่เป็นทั้งรายบุคคลหรือสถาบัน ที่มีอำนาจเงินอยู่ในมือ

การหาทางออกจากหรือป้องกันปัญหาโดนสับขาหลอกของขาใหญ่ โดยนักลงทุนรายย่อย อยู่ที่การค้นหาความ สามารถในการคุมสถานการณ์ ที่จะไม่ทำให้เจ็บตัวได้ง่าย หรือไม่ผลีผลามจนเจ็บตัวโดยไม่สามารถกลับตัวได้

กลยุทธ์การลงทุนที่ลิเวอร์มอร์เสนอสำหรับนักลงทุนรายย่อย คือ การทยอยเข้าทยอยออก เป็นการป้องกันให้เกิดการเจ็บตัวหรือโดนหลอกหลังหักให้น้อยที่สุด และสร้างโอกาสในระยะที่เกิดแนวโน้มใหม่ที่ตลาดสามารถกลับมาเป็นขาขึ้น

กลยุทธ์ซื้อขายแบบปิระมิด ใช้ได้ทั้งการซื้อและการขาย บนพื้นฐานของหลักการ “ยิ่งขึ้นยิ่งขาย ยิ่งลงยิ่งซื้อ” เป็นหลักการที่พูดง่าย แต่ทำยาก

วิธีการเล่นเกมปิระมิด เริ่มโดยแบ่งเงินที่จะเทรดหุ้นเป็นเป็นขั้นๆ โดยชั้นแรกของการซื้อคือ ปริมาณที่เล็กสุด แล้วขยายใหญ่มากขึ้น

ในทางกลับกันชั้นแรกของการขายคือ การขายที่ฐานใหญ่สุด แล้วทยอยขายน้อยลงไปเรื่อยๆ

กลยุทธ์แบบนี้จะทำให้เมื่อตลาดเกิดอาการสับขาหลอก หรือ วกกลับ ต้นทุนของเฉลี่ยของเราจะต่ำกว่าราคาตลาดจริงๆ ทำให้นักลงทุนรายย่อยรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ไม่ลนลานไปกับสถานการณ์ เกิดสภาพ “ซื้อเมื่อเขียว ขายเมื่อแดง”

ทฤษฎีของลิเวอร์มอร์นี้ จะได้ผลจริง เมื่อนักลงทุนมีวินัยสูงมาก แต่ถ้านักลงทุนขาดวินัย จะไม่ได้ผลเลย

การย้อนกลับมาของลิเวอร์มอร์รอบใหม่ จึงน่าพิจารณาอย่างรอบคอบ..

Back to top button