UWCส่งซิกปี61เทิร์นอะราวด์ เหตุบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าชีวมวลเต็มปี

UWC ส่งซิกปี 61 เทิร์นอะราวด์ เหตุบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 แห่งเต็มปี ผนวกกับรับรู้รายได้จากงานเสาส่งราว 1 พันล้านบาท


นายธีรชัย ลีนะบรรจง กรรมการบริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวิมวลมีอยู่ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล UWC KOMEN จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 MW และมีขนาดกำลังการผลิตที่จำหน่าย 8 MW ซึ่งบริษัทเข้าลงทุน 100% ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่ธ.ค.ปี 58

รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่จ.บุรีรัมย์ กำลังการผลิตรวมติดตั้ง 17 MW คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลสตึก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.5 MW และมีขนาดกำลังการผลิตที่จำหน่าย 6.5 MW ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อมิ.ย.60 และโรงไฟฟ้าชีวมวลยูดับบลิวซี อำพัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 MW และมีขนาดกำลังการผลิตที่จำหน่าย 8 MW ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อส.ค.60

“กระบวนการในเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมีความซับซ้อนพอสมควร รวมทั้งบริษัทต้องเข้าไปซ่อมบำรุงและมีภาระค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อม ดังนั้น ในทางบัญชีจึงอาจจะยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนนี้ เนื่องจากต้องรอการเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต

รวมถึงโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งเริ่มขายไฟฟ้าได้เพียง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น จึงส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตามบริษัทจะพยายามให้สามารถรับรู้รายได้ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ได้”นายธีรชัย กล่าว

ทั้งนี้หากมองในส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้าชีวมวลสตึกจะยังไม่ถือว่าสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทได้ ดังนั้น บริษัทย่อยแห่งใหม่ที่กัมพูชา เพื่อผลิตไม้เบญจพรรณและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น บริษัทจึงสามารถผลิตเชื้อเพลงได้เอง ซึ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนเชื้อเพลิงลดลงถึง 20% และส่งผลให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสตึกสร้างกำไรได้ รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลอำพันสร้างกำไรได้มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรายได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัทมีภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยปี 59 บริษัทมีรายได้จากโรงไฟฟ้าที่จ.นครราชสีมาเพียง 1 แห่งเท่านั้น ขณะที่ในปี 60 บริษัทสามารถขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จ.บุรีรัมย์ได้ประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมในส่วนของโรงไฟฟ้าราว 450 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์รายได้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลยูดับบลิวซี อำพัน เทียบกับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.นครราชสีมาได้ เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตราเดียวกันคือ 8 MW รวมถึงอัตรารับซื้อไฟฟ้า (FIT) อยู่ที่ 3.20 เท่ากันอีกด้วย

โดยในปี 59 บริษัทมีรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.นครราชสีมาราว 270 ล้านบาท และคาดว่ารายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลอำพันในปี 60 อยู่ที่ราว 90 ล้านบาท ขณะเดียวกันคาดว่ารายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลสตึกในปี 60 อยู่ที่ราว 80 ล้านบาท จึงคาดการณ์ว่าในปี 60 บริษัทจะมีรายได้รวมในส่วนของโรงไฟฟ้าราว 450 ล้านบาท

ขณะที่งานเสาส่งบริษัทคาดว่ารายได้ปี 60 จะสามารถเติบโต 30% จากปีก่อนมีรายได้ราว 780 ล้านบาท หลังครึ่งแรกปี 60 มีรายได้แล้วกว่า 600 ล้านบาท ผนวกกับปัจจุบันบริษัทมีงานในมี (Backlog) อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าจะได้รับงานเสาส่งขนาด 500 KV ในพื้นที่ภาคอีสาน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุนให้ Backlog เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาท และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้บางส่วนในปีนี้ราว 1 พันล้านบาท คาดว่าจะสามารถส่งมอบทั้งหมดได้ในไตรมาส 4/61 โดยในปี 61 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ในส่วนของธุรกิจเสาส่งราว 1.2 พันล้านบาท และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจเสาส่งได้ราว 1 พันล้านบาท

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในปี 61 บริษัทจะสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ เนื่องจากบริษัทจะสามารถขายไฟฟ้าชีวมวลจากทั้ง 3 โครงการได้เต็มปี ผนวกกับรับรู้รายได้รายจากงานเสาส่งเพิ่มขึ้น

Back to top button