ลิ่วล้อ ขอฉี่รดกำแพง

โดยฐานะและตำแหน่งงาน นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงไม่ได้ออกมาแถลงข่าววิพากษ์นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ชนิด “โยกเสาศักดิ์สิทธิ์” โดยพลการ ตามประสานักวิชาการ “ร้อนวิชา” แบบนอกคอกของกระทรวงการคลังเป็นแน่แท้ หากไม่มีสัญญาณไฟเขียวให้กระทำได้ในฐานะ “ลิ่วล้อ”


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล 

โดยฐานะและตำแหน่งงาน นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงไม่ได้ออกมาแถลงข่าววิพากษ์นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ชนิด “โยกเสาศักดิ์สิทธิ์” โดยพลการ ตามประสานักวิชาการ “ร้อนวิชา” แบบนอกคอกของกระทรวงการคลังเป็นแน่แท้ หากไม่มีสัญญาณไฟเขียวให้กระทำได้ในฐานะ “ลิ่วล้อ”

การออกมาวิพากษ์ชนิดเปิดหน้าชนดังกล่าว นายสุวิทย์ระบุว่า เกิดขึ้นเพื่อโหมโรง ก่อนจะมีการลงนามระหว่างนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในปีนี้ ว่าด้วยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ทำไมต้องวิพากษ์ก่อนลงนาม คำตอบคือ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง …ไม่เป็นอย่างอื่น

ตามกระบวนการทางกฎหมาย การออกนโยบายการเงินแบบกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation-Targeting Monetary Policy ที่ประเทศไทยใช้มานาน 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ระบุว่า ให้มีการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี  โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีคลัง ก่อนที่รัฐมนตรีจะนำเสนอเป้าหมายที่ตกลงร่วมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

หลายปีมานี้ คณะรัฐมนตรีไทยทุกชุด ได้อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 (หมายความว่า 2.5% บวก/ลบ 1.5% ) เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี และระยะปานกลางมาโดยตลอด โดยอ้างว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินนโยบายการเงินเช่นเดียวกัน เพื่อเป้าหมาย “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว” ได้แก่ 1) ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศ 2) สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้ดี 3) ช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถบรรลุเป้าหมายของเสถียรภาพราคา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินได้พร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ​

เพื่อให้เข้าใจชัดเจน นโยบายการเงินของธนาคารกลางชาติทุนนิยมต่างๆ ในโลกระยะ 50 ปีที่ผ่านมา มีเพียงแค่  3 แนวทางเท่านั้นคือ

นโยบายการเงินที่ไม่กำหนดเป้าหมายอะไรเลย ไม่มีการประกาศตัวเลขของเป้าหมายให้ประชาชนทราบ มีเพียงแค่ความเชื่อมั่นในตัวของธนาคารกลางที่เป็น “คุณพ่อรู้ดี” ในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจนโยบายการเงิน ซึ่งมีข้อเสียที่เด่นคือ อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการใช้นโยบายได้ แม้จะมีข้อดี ที่ธนาคารกลางมีอิสระจากการครอบงำของรัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง

นโยบายการเงินแบบกำหนดกรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Exchange Rate-Targeting Monetary Policy ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายในการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ ก.กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) เช่น ฮ่องกง และประเทศในกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน และ ข. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแต่ใช้นโยบายการเงินดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Managed Float Exchange Rate) เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น มีข้อดีคือ ดูแลระดับราคาสินค้าที่มีการค้าขายระหว่างประเทศได้โดยตรง ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็มีข้อเสียคือ มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีค่าเงิน

นโยบายการเงินภายใต้กรอบเ​ป้าหมายเงินเฟ้อ (มักจะตามมาด้วยการเติมคำว่า แบบยืดหยุ่น  เข้าไป กลายเป็น Flexible Inflation-Targeting Monetary Policy) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน มีข้อดีคือ ดูแลเสถียรภาพของระดับราคาโดยตรง ส่วนข้อเสียคือ อาจไม่ได้คำนึงถึงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ระดับราคาอาจได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าได้ ไม่เหมาะสมกับประเทศที่นำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคในสัดส่วนที่สูง

หลายปีมานี้ ธปท.ในฐานะธนาคารกลางมักถูกวิจารณ์รุนแรงจากทางกระทรวงการคลังเสมอว่า นโยบายการเงินแบบใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว แต่ผู้บริหารของ ธปท.ก็ออกมาปกป้องและยืนกรานท่าทีเดิมว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น มีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย เสมือนยาสารพัดนึก “ทากระได ถูกระได”

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เจ้าของทฤษฎี เห็บสยาม ทำการควงแขนออกโรงเรียกร้องให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยอ้างถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่านานมาก ทำให้เงินเฟ้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย แถมเปิดช่องให้เงินทุนเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น

คำพูดที่เป็น “หมัดเด็ด” ของปลัดคลังยามนั้นที่ว่า “ที่ผ่านมา แบงก์ชาติปล่อยให้เงินแสนล้านเข้ามาได้อย่างไร จะเอามาสร้างโรงพยาบาลหรือ?” ถูกตอบโต้ทันควันจาก ธปท. ว่าหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้น อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

ผลลัพธ์คือ เรื่องจบลงด้วยความเงียบ เพราะกระทรวงการคลังจำต้องยอมรับว่า ไม่มีอำนาจใดสั่งการให้ ธปท. ทำตามต้องการได้

เมื่อคนระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงคลังไร้น้ำยาในการสั่ง คำถามก็มาถึงว่า คนอย่างนายสุวิชญ แห่ง สศค.ในฐานะ “ลิ่วล้อ” ที่ออกมาชี้แนะให้ ธปท. ลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลง รวมทั้งลดดอกเบี้ยนโยบาย และสเปรดมาร์จิ้น (ส่วนต่างกำไรดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์) จากเดิมที่กำหนดแต่ไม่เคยทำได้  “ทำให้ตัวชี้วัด KPI ของ ธปท.ในข้อนี้ไม่ผ่าน เพราะกรอบเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมายมาหลายปี …” ย่อมไม่มีผลทางปฏิบัติ

ปฏิบัติการ “ฉี่รดกำแพง” ล่าสุด  จึงไม่สามารถคาดหวังว่าจะลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ระดับ “ขึ้นหิ้งบูชา” ของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้

X
Back to top button