ศาลสั่งทุบตึก ใครผิด

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ออกคำสั่งขึงขัง ให้รื้อโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยขู่เอาผิดเจ้าของว่าจะมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับวันละ 3 หมื่น พร้อมขอกำลังตำรวจมาตรึงห้ามใครเข้าออก


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ออกคำสั่งขึงขัง ให้รื้อโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยขู่เอาผิดเจ้าของว่าจะมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับวันละ 3 หมื่น พร้อมขอกำลังตำรวจมาตรึงห้ามใครเข้าออก

กระแสสังคมก็เห็นดีเห็นงาม ท่านผู้ว่าฯ เป็นฮีโร่ เจ้าของตึกเลวทราม ดื้อแพ่งไม่ทำตามคำสั่งศาล แต่ทราบหรือไม่ คดีนี้ศาลชี้ว่าใครผิด ใครคือผู้ถูกฟ้อง

ผู้ถูกฟ้องคือ ผู้ว่าฯ กทม.และผู้อำนวยการเขตปทุมวันครับ แม้เป็นผู้ว่าฯ ในยุคอภิรักษ์ โกษะโยธิน ไม่ใช่ยุค พล.ต.อ.อัศวิน แต่ก็คือ กทม.ต้องรับผิด

ผู้อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี ฟ้องผู้ว่าฯ กทม.และ ผอ.เขตฯ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้สร้างอาคารสูงเกินกำหนด เพราะซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูง 18 และ 24 ชั้น แต่เขตปทุมวันออกหนังสือรับรองว่าซอยกว้าง 10 เมตร ทำให้ก่อสร้างได้

ศาลปกครองกลางรับฟ้องเมื่อปี 2551 โดยมิได้ออกคำสั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อน แล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2555 ว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ มีการรังวัดแล้วซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร จึงสั่งให้ใช้อำนาจตามมาตรา 40-43 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ดำเนินการกับเจ้าของอาคารทั้ง 2 หลังภายใน 60 วัน โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2557 ซึ่งในขณะนั้น โรงแรมและอพาร์ตเมนต์ดิเอทัสสร้างเสร็จแล้ว

เข้าใจตรงกันนะ คดีนี้ไม่เหมือนอาคารสูงย่านบางลำภูที่เจ้าของก่อสร้างต่อเติมผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต อาจพังถล่มเป็นอันตรายต่อสาธารณชน

คดีนี้ ศาลไม่ได้ชี้ว่าเจ้าของอาคารผิด ศาลชี้ว่า กทม.ผิด แล้วสั่งให้ “คนผิด” คือ กทม.ไปทำให้ถูกต้องเสีย ด้วยการใช้อำนาจบังคับให้เจ้าของรื้อถอนอาคารภายใน 60 วัน โดยต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หากไม่ทำตาม กทม.สั่ง เจ้าของอาคารจะมีความผิด ถูกปรับถูกจับกุมคุมขัง

แน่ละ ถ้ายึดตามคำสั่งศาลเคร่งครัด ก็ต้องทุบ แต่มีคำถามตามมาว่าเจ้าของอาคารซึ่งไม่ใช่คนผิด มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือไม่

ต้องมีสิครับ เพราะตามข้อเท็จจริงแห่งคดี เจ้าของอาคารสามารถอ้างว่าดำเนินการตามกฎหมายโดยสุจริต ทำหนังสือถามสำนักงานเขต จนได้คำรับรองว่าซอยกว้าง 10 เมตร จนได้รับหนังสือแจ้งให้ก่อสร้างอาคารได้ แม้มีข้อโต้แย้งระหว่างสำนักการโยธากับเขตปทุมวัน แต่ก็ไม่มีคำสั่งระงับยับยั้ง จนเขาสร้างเสร็จ

ฉะนั้น แม้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่เจ้าของอาคารก็สามารถใช้สิทธิผู้ประกอบการโดยสุจริต ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม.ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งขั้นต่ำๆ ดูเหมือนจะลงทุนไป 3 พันกว่าล้าน

ในทางปฏิบัติ ยังมีปัญหาอีกว่า กทม.จะใช้อำนาจตามมาตรา 40-43 ได้เพียงไร เพราะถ้ายึดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ตึกทั้งสองสร้างได้ 8 ชั้น ส่วนที่ขัดกฎหมายคือส่วนที่เกิน 8 ชั้นขึ้นไป กทม.จะทุบทิ้งหมดหรือทุบเหลือ 8 ชั้น ถ้าทุบหมดจะโดนฟ้องว่าใช้อำนาจเกินกฎหมายหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ไง เรื่องจึงยืดเยื้อมา 3 ปี ศาลสั่งบังคับคดีเมื่อปี 2559 ก็ยังยืดเยื้อมาอีกปี

สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิทธิของผู้ลงทุนโดยสุจริตก็สำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้น จะไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศนี้

Back to top button