6 หุ้นบันเทิง ไม่บันเทิงสมชื่อ

เปิดโผ 6 หุ้นบันเทิง ที่ดูเหมือนจะไม่ “บันเทิง” ตามชื่อ หลังงบไตรมาส 1 ออกมาน่าผิดหวัง ส่วนใหญ่อ้างการแข่งขันรุนแรง ทำต้นทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง ฟากโบรกเกอร์ฟันธงธุรกิจสื่อบันเทิงจะหดตัวตามเศรษฐกิจที่ซบเซา


เปิดโผ 6 หุ้นบันเทิง ที่ดูเหมือนจะไม่ “บันเทิง” ตามชื่อ หลังงบไตรมาส 1 ออกมาน่าผิดหวัง ส่วนใหญ่อ้างการแข่งขันรุนแรง ทำต้นทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง ฟากโบรกเกอร์ฟันธงธุรกิจสื่อบันเทิงจะหดตัวตามเศรษฐกิจที่ซบเซา

จากการสำรวจข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ช่วงการประกาศผลดำเนินงานประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า หุ้นกลุ่มบันเทิงประกาศผลการดำเนินงานออกมาได้อย่างน่าผิดหวัง  ทั้งที่ไตรมาสดังกล่าวหุ้นในกลุ่มบันเทิงมีรายได้จากช่องทีวีดิจิตอลเพิ่มเข้ามา แต่รายได้จากโฆษณากลับลดลงอย่างถ้วนหน้า

เริ่มต้นที่หุ้นตัวแรกอย่าง บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 มีผลขาดทุนสุทธิ 68.05 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.02 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 43.19 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.01 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานที่พลิกขาดทุน เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อ Content เพิ่มขึ้น

ขณะที่ราคาหุ้น MONO วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 3.60 บาท ปรับตัวลง 0.06 บาท หรือ 1.64% มูลค่าซื้อขาย 4.38 ล้านบาท

 

อันดับที่ 2  บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2558 ขาดทุนสุทธิ 41.55 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.0414 บาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 816.16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 4.53 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.0048 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 18.8% อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากการดำเนินงานของ “ช่อง 8” ดิจิตอลทีวี ได้แก่ ต้นทุนค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล

ขณะที่ราคาหุ้น RS วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 14.40 บาท ปรับตัวขึ้น 0.40 บาท หรือ 2.86% มูลค่าซื้อขาย 85.04 ล้านบาท

 

อันดับที่ 3 บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2558 ออกมาไม่เวิร์คสมชื่อ หลังตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11.42 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 380.67% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2.37 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.006 บาท เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขาย-บริหารรวมทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของทีวีดิจิตอลโดยตรง

ขณะที่ราคาหุ้น WORK วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 34.25 บาท ปรับตัวลง 1.25 บาท หรือ 3.52% มูลค่าซื้อขาย 35.57 ล้านบาท

 

อันดับที่ 4 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีกำไรสุทธิ 27.34 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น ลดลง 86.17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 197.68 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.29 บาท โดยผลการดำเนินงานที่ลดลงมาจากรายได้จากการดำเนินงานด้านโทรทัศน์ลดลง แม้งบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จะเติบโตเพิ่มขึ้น 25% แต่ยังมีปัจจัยลบด้านอื่น อาทิเช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และเป็นฤดูกาลที่มีใช้งบโฆษณาต่ำสุด เป็นต้น

ขณะที่ราคาหุ้น MCOT วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 13.20 บาท ปรับตัวขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.54% มูลค่าซื้อขาย 1.98 ล้านบาท

 

อันดับที่ 5 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 มีกำไรสุทธิ 743.94 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.37 บาทต่อหุ้น ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.15 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.57 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ผลการดำเนินงานดังกล่าวที่ลดลง เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณาต่ำกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้านเข้ามากระทบพร้อมกัน

ขณะที่ราคาหุ้น BEC วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 36.50 บาท ปรับตัวลง 1.25 บาท หรือ 3.31% มูลค่าซื้อขาย 52.33 ล้านบาท

 

อันดับสุดท้ายหุ้นอากู๋ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 มีกำไรสุทธิ 376.81 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.46 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 791.70 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 1.24 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานที่พลิกกำไร เนื่องจากบริษัทมีการบันทึกกำไรเพิ่มเติมจำนวน 72 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ซีเอ็ด และการรับรู้กำไรมูลค่า 654 ล้านบาท จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนในบริษัทจีเอ็มเอ็ม วัน ทีวีเทรดดิ้ง จำกัด

ทั้งนี้หากไม่รวมรายการพิเศษ (ที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ) ธุรกิจหลักของ GRAMMY ขาดทุนเป็นเงิน 350 ลบ. โดยผลขาดทุนนั้นมาจากผลขาดทุนของช่องทีวีดิจิตอลทั้งสองช่องเป็นหลัก

ขณะที่ราคาหุ้น GRAMMY วานนี้ (18 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 13.60 บาท ปรับตัวขึ้น 0.10 บาท หรือ 0.74% มูลค่าซื้อขาย 1.25 ล้านบาท

 

สำหรับหุ้นทั้ง 6 ตัวที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นพบว่าแนวโน้มรายได้ธุรกิจโฆษณาในช่วงนี้ยังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มบันเทิงกลายเป็นหุ้นเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีก่อนเข้าลงทุน

*อนึ่ง รายงานการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทความการวิเคราะห์ แต่ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งมิได้เจตนาที่จะนำไปสู่การชี้นำแต่อย่างใด ทั้งนี้นักลงทุน และผู้ใช้รายงานฉบับนี้ควรใช้วิจารณญาณส่วนตัวประกอบด้วย

Back to top button