โบรกฯแนะเลี่ยงแบงก์กลาง-เล็ก หลัง 3 บิ๊กเปิดศึกงดค่าฟี หวั่นถูกชิงฐานลูกค้า

โบรกแนะเลี่ยงแบงก์ขนาดกลาง-เล็ก เหตุ 3 แบงก์ใหญ่เปิดสงครามงดค่าฟี หวั่นระยะยาวถูกชิงฐานลูกค้าประกัน-กองทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ณ เวลา 11.00 น. มาอยู่ที่ 2.62 บาท ลบ 0.12 บาท หรือ 4.38% สูงสุดที่ระดับ 2.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.58 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 649.39 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้นบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP อยู่ที่ 53 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.47% สูงสุดที่ระดับ 53.50บาท ต่ำสุดที่ระดับ 52.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 158.63 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น TMB และ TCAP ปรับตัวลดลงอย่างหนักในวันนี้ (29 มี.ค.) ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่วานนี้ธนาคารขนาดใหญ่ประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน Netbank จนถึงสิ้นปี ซึ่งถึงแม้จะเกิดจากความกังวลว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าในระยะยาวมองว่าจะเป็นผลดีในแง่ของ การเร่งกระบวนการ Digital Transformation และทำให้ธนาคารสามารถปรับแผนในการลดสาขา และจำนวนพนักงานได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่การงดค่าธรรมเนียมดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาการขายประกัน, กองทุนรวม และเจาะตลาดเครดิตการ์ดได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนแบ่งของตลาดมากยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารขนาดกลาง – เล็ก เป็นผู้เสียประโยชน์ในระยะยาวจากการรักษาฐานลูกค้า โดยเฉพาะ TMB ที่เป็นผู้เริ่ม “all-free” สำหรับเงินฝาก

 

โดย บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่าผลกระทบต่อผลประกอบการของ SCB และ KBANK มาเร็วกว่าคาด ทั้งนี้หลังจากที่พูดถึงระบบ e-Payment ตั้งแต่ปี 2559 ว่าการมาถึงของ Prompt Pay จะทำให้ธนาคารต้องยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมและบริการที่มี value-added ต่ำ แต่การยกเลิกค่าธรรมเนียมมาเร็วกว่าที่คิดไว้

โดยจากประมาณการรวมรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลง 30% ต่อปีสำหรับปี 2561-63 โดยการใช้แผนในเชิงรุกของ SCB ทำให้ผลกระทบของทั้ง 3 ปีมาลงในปี 2561 ซึ่งค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมโอนเงินคิดเป็นสัดส่วนราว 10-30% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดประกอบไปด้วย ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน, เติมเงิน, ชำระบิล และการถอนเงิน

ทั้งนี้ ธนาคารได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะคิดเป็น 5% ของค่าธรรมเนียมรวม และ non-NII ซึ่งหากทุกธนาคารทำตามธนาคารขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบสูงสุด โดยเฉพาะ KBANK และ SCB เนื่องจากมีฐานลูกค้า Mobile Banking สูง แต่ผู้เสียประโยชน์ในระยะยาวคือ ธนาคารขนาดเล็ก และกลาง / ธนาคารที่ไม่มีสาขาแบบเต็มรูปเช่น TMB, TCAP

โดยแม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวเอง แต่เชื่อว่าการลงทุนในระบบดิจิตอลของ SCB ทำมาถูกต้องแล้ว และเป็นการเร่งกระบวนการ Digital Transformation และทำให้ธนาคารสามารถปรับแผนในการลดสาขา และจำนวนพนักงานได้เร็วยิ่งขึ้น จากอดีตที่ผ่านมาลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาจะใช้บริการของธนาคาร 1-2 แห่งที่มี RoE ต่ำ, ธนาคารขนาดเล็ก – กลางเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินจะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่เช่น SCB, KBANK, BBL พัฒนาการขายประกัน, กองทุนรวม และเจาะตลาดเครดิตการ์ดได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนแบ่งของตลาดมากยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารขนาดกลาง – เล็ก เป็นผู้เสียประโยชน์ในระยะยาวจากทั้ง CASA และการรักษาลูกค้า โดยเฉพาะ TMB ที่เป็นผู้เริ่ม “all-free” สำหรับเงินฝาก และการใช้ open-architecture ของกองทุน โดยแนะนำให้ “ซื้อ” BBL, SCB, KBANK และ “ถือ” TMB, TCAP, KKP

 

Back to top button