UAC เตรียมส่ง “ยูเอซี แอ็ดวานซ์ฯ” เข้าเทรดตลาด mai ลุยขาย IPO 175 ล้านหุ้น

UAC เตรียมส่งบ.ย่อย "ยูเอซี แอ็ดวานซ์ฯ” เข้าเทรดตลาด mai ภายในปี 61 ลุยขาย IPO 174 ล้านหุ้น ระดมทุนต่อยอด-ขยายงานเสริมศักยภาพธุรกิจแกร่ง โดยมีบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) ผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ประเภทลาเท็กซ์อีมัลชั่นและโพลิเมอร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยได้มีการแต่งตั้งให้บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งภายในปี 61

โดย UAPC มีแผนจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 174 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมของ UAC จำนวน 54 ล้านหุ้น โดยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 180 ล้านบาท เป็น 240 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือ มีสัดส่วนไม่เกิน 36.25% ของทุนชำระแล้วของ UAPC ภายหลังการเพิ่มทุน และบริษัทยังคงเป็นผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 63.75% ของทุนชำระแล้วของ UAPC ภายหลังการเพิ่มทุน

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ทำการเสนอขายและการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ UAPC ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญของ UAC ตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 87 ล้านหุ้น คิดเป็น 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย IPO

นายชัชพล กล่าวเพิ่มว่า UAC ในฐานะบริษัทแม่มองว่าการนำ UAPC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการส่งผลดีต่อบริษัทโดยตรง เนื่องจาก UAPC สามารถระดมทุนผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยตัวบริษัทเอง ซึ่งในอนาคตยังสามารถใช้แหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อยอดและขยายงานในอนาคตได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแผนของ UAC ในฐานะบริษัทแม่ ที่ต้องการให้ UAPC มีความแข็งแกร่งทั้งศักยภาพการดำเนินธุรกิจและฐานะทางการเงินที่เติบโตแบบยั่งยืนในอนาคต

โดยปัจจุบัน UAPC มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านเคมีภัณฑ์อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

Back to top button