รัฐ 0.4 ไม่ใช่แค่สี่ปี

ทีดีอาร์ไอจัดเสวนา "ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ถ้าปรับตัวไม่ทัน ภาคธุรกิจอาจย้ายฐานไปต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยอาจโตเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี และจะมีตำแหน่งงานหายไป 3 ล้านตำแหน่ง


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ทีดีอาร์ไอจัดเสวนา “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ถ้าปรับตัวไม่ทัน ภาคธุรกิจอาจย้ายฐานไปต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยอาจโตเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี และจะมีตำแหน่งงานหายไป 3 ล้านตำแหน่ง

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เน้นว่าภาครัฐต้องปรับทัศนคติในการกำหนดนโยบายและออกระเบียบ ต้องเลิกความคิด “คุณพ่อรู้ดี” เลิกการกำกับดูแลที่เน้นเฉพาะความปลอดภัยสูงสุดอย่างเดียว และมุ่งมั่นปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิมเป็นหลัก โดยยกตัวอย่างบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ได้รับความนิยม แต่ติดขัดทางกฎหมาย รัฐบาลไม่ตัดสินใจจะสนับสนุนหรือไม่ ต่างกับอินโดนีเซีย ที่แก้กฎหมายตามความต้องการของประชาชน จน Gojek กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท

ฟังแล้วเห็นภาพอย่าง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งผู้คนในแวดวงหัวเราะก๊ากว่าถ้าอะไร ๆ มันยุ่งยากขนาดนี้ ดีไม่ดีเจอโทษทั้งจำทั้งปรับ เสียภาษี 15% อีกต่างหาก ก็คงหนีไปซื้อขายต่างประเทศกันดีกว่า

ส่วนตัวไม่ได้เข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัล เงินดิจิทัล อะไรนัก แต่ทัศนะ “คุณพ่อรู้ดี” ของรัฐอนุรักษนิยม รัฐราชการเป็นใหญ่ นี่เข้าใจลึกซึ้งเลย รัฐไทยยึดทัศนะความมั่นคงปลอดภัยไว้ก่อน ทั้งความมั่นคงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ แบบดั้งเดิมสมัยสงครามเย็น สมัย 0.4 ไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เดือนเด่นเตือนว่า ในยุคดิจิทัลนี้ “ถ้าไม่รับความเสี่ยง ก็ไม่มีโอกาส”

ทัศนะเศรษฐกิจของรัฐ ก็ไม่ต่างอะไรกับทางการเมือง ที่จะสร้างนักรบไซเบอร์ เพิ่มตำแหน่งงาน 5,000 ตำแหน่ง มาสอดส่องปกป้องความมั่นคงของชาติ ทั้งที่ความมั่นคงไซเบอร์ควรจำกัดแค่ป้องกันอาชญากรคอมพิวเตอร์โจมตีระบบ แพร่ไวรัส ไม่ใช่ไล่จับทัศนะที่เห็นต่างจากทหาร จากรัฐบาล ซึ่งถ้ามีความผิดก็เข้าข่ายกฎหมายอื่นอยู่แล้ว

สังคมไทยทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ดูจะยังไม่ตระหนักว่า รัฐประหาร 2557 ไม่ได้มาแค่ 4-5 ปี แล้วกลับสู่เสรีประชาธิปไตย ในความเป็นจริง เราจะไม่เห็นประชาธิปไตยแบบที่คุ้นเคยกันอีกต่อไป เพราะนี่คือการสถาปนารัฐระบอบเก่าขึ้นมาใหม่ รัฐที่ถูกกำกับอยู่ใต้หน่วยงานความมั่นคง ใต้ทัศนะที่ย้อนไปเสมือนยุคสงครามเย็น มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง สังคม และเทคโนโลยี เป็นภยันตรายต่อความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น

สี่ปีมานี้ ภาคธุรกิจ คนชั้นกลางในเมือง พึงพอใจกับความสงบราบคาบ ไม่มีม็อบเสื้อสี ไม่มีการประท้วง กระทั่งพีมูฟจะมาเรียกร้องเรื่องปากท้องที่ทำกิน ยังถูกอุ้มเข้าค่ายทหาร คนอีสานต้านเหมืองโปแตช ก็ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่ความพึงพอใจว่าได้ทำมาค้าขายอย่างสงบ ก็มีค่าใช้จ่าย คือถูกรัฐล้าหลังเอาทัศนะความมั่นคงเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจ สกัดความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่โลกกำลังผันผวน เทคโนโลยีไปเร็วมาก

แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว จะร้องโวยวายยังไงละครับ พูดแบบบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าท้อใจ ปฏิรูปผิดทาง ราชการล้าหลัง ฯลฯ อย่างนั้นหรือ หรือพูดแบบสมคิด เลิศไพฑูรย์, บรรเจิด สิงคะเนติ ว่าประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ พูดทำไม ร่วมมือกันมาชัด ๆ

พูดแบบอดีต ส.ส.ปชป. รัชดา ธนาดิเรก สิ realistic ที่สุด รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีทางแก้ได้ ทำใจทนอยู่กับมันเสียเถอะ สังคมไทย ภาคธุรกิจไทย ก็ควรทำใจอยู่กับรัฐ 0.4 เว้นแต่มีช่องทางย้ายฐานการผลิต ก็ตัวใครตัวมัน แต่ชาวบ้านตาดำ ๆ ย้ายหนีไปไหนไม่ได้

Back to top button