ภาคบังคับของผีแดง

ปิดงบสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันฟุตบอล 2017-2018 ของลีกยุโรปลงไปแล้ว ผลการประเมินล่าสุดโดยบริษัทบัญชีระดับโลก KPMG เพื่อใช้อ้างอิงจ่ายเงินค่าสนับสนุนที่บริษัทอื่น ๆ ต้องเตรียมจ่ายในฤดูกาลถัดไปก็ออกมาเรียบร้อย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ปิดงบสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันฟุตบอล 2017-2018 ของลีกยุโรปลงไปแล้ว ผลการประเมินล่าสุดโดยบริษัทบัญชีระดับโลก KPMG เพื่อใช้อ้างอิงจ่ายเงินค่าสนับสนุนที่บริษัทอื่น ๆ ต้องเตรียมจ่ายในฤดูกาลถัดไปก็ออกมาเรียบร้อย

ผลปรากฏว่า สโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ อังกฤษ หรือ แมนยูฯ หรือผีแดง ของแฟนคลับ ยังคงครองตำแหน่งอันดับ 1 ของยุโรปและของโลกต่อไป ด้วยมูลค่าประเมิน 3.25 พันล้านยูโร ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ขาดลอย

มูลค่ากิจการดังกล่าว วัดจากความสามารถทำกำไร สิทธิ์ถ่ายทอดสด ความนิยม ความสามารถในการแข่งขันในสนาม และมูลค่าสนามแข่ง เอามาถ่วงน้ำหนักทางบัญชี

ปัจจัยถ่วงน้ำหนักดังกล่าวทำให้แม้ปีนี้ แมนยูฯจะไม่สามารถคว้าถ้วยอะไรเลยมาปลอบใจแฟนบอล แต่ไม่กระทบถึงภาพลักษณ์ที่ตีความประเมินมาเป็นมูลค่าทางธุรกิจ

นักประเมินของ KPMG ระบุว่า ในภาพรวม รายได้ของธุรกิจฟุตบอลในลีกยุโรปเพิ่มขึ้น 8% ในฤดูที่ผ่านมา และคาดว่าสโมสรยักษ์ใหญ่น่าจะยังมีสตอรี่ที่ดึงดูดใจแฟนบอลให้ควักกระเป๋าเพิ่มขึ้น จนกระทั่งดีลซื้อขายที่มีมูลค่าสูงขึ้นมา จะยังไม่ส่งผลเสียต่อความสามารถทำกำไร

หากเรียงตามลำดับการประเมินมูลค่าล่าสุดของ KPMG จะพบว่า Top 10 ของสโมสรฟุตบอลโลกยามนี้ มีมูลค่าดังนี้

■   Manchester United – €3.255bn

■   Real Madrid – €2.92bn

■   Barcelona – €2.78bn

■   Bayern Munich – €2.55bn

■   Manchester City – €2.16bn

■   Arsenal – €2.10bn

■   Chelsea – €1.76bn

■   Liverpool – €1.58bn

■   Juventus – €1.30bn

■   Tottenham – €1.29bn

จากตาราง จะเห็นได้ว่า ทีมสโมสรฟุตบอลอังกฤษ ติดอันดับโลกถึง 6 ใน 10 รายหัวแถว 

ทั้งที่คิดจากความสามารถในการคว้ารางวัลแล้ว ค่อนข้างต่ำเทียบกับคู่แข่งทีมหัวแถวจากชาติอื่น ๆ บ่งบอกชัดว่า ในมุมของธุรกิจฟุตบอลอาชีพนั้น “กล่อง” ไม่สำคัญเท่ากับ “เงิน” แม้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมกันก็ตาม

หนังสือพิมพ์ Financial Times สัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้จัดการกองทุนที่มีคนติดตามความคืบหน้ามากสุดคนหนึ่งของอังกฤษ ออกมาระบุว่า ได้กลับเข้ามาลงทุนในหุ้น แมนยูฯ ระลอกใหม่ (แม้ออกตัวว่าไม่ใช่แฟนคลับของทีมนี้) เพราะเชื่อมั่นว่า ฤดูการแข่งขันถัดไป แมนยูฯ จะกลับมาโดดเด่น หลังจากเริ่มฟื้นตัวในยุคถ่ายเลือดใหม่หลังจากการอำลาของอดีตผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซึ่งจะเติมองค์ประกอบของมูลค่ากิจการให้ดีขึ้นรุนแรง

ปีนี้เป็นปีที่สองที่มูลค่าของแมนยูฯ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างชนิดทิ้งห่างคู่แข่ง ของ 3 สถาบันพร้อมกัน ยืนยันชัดว่า ไม่ได้เป็นรางวัลแบบเฮงซวย หรือหวังค่าโฆษณาสนับสนุนคนให้รางวัล

จุดโดดเด่นของทีมแมนยูฯ ก็เปรียบได้กับทีมอื่นอย่างเรอัล มาดริด และ บาเยิร์น มิวนิก นั่นคือ ความสามารถยกระดับความสำเร็จทางการแข่งขันในสนาม ให้เป็นตราสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงอย่างน่าอิจฉา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ

หลายคนอ้างว่า โชเซ่ มูรินโญ่ สามารถทำให้ทีมยกระดับมูลค่ามาได้ถึงขนาดนี้ แต่นั่นถูกเพียงแค่เศษเสี้ยว เพราะกุญแจที่แท้จริงเกิดจากปีที่ผ่านมา แมนยูฯ ได้บรรลุข้อตกลงให้ไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์ และบริษัทคันไซของญี่ปุ่น เป็นสปอนเซอร์ ทำให้แนวโน้มรายได้จะพุ่งกว่าปีก่อนชัดเจน

รายได้จากผู้สนับสนุนทีมใหม่ นอกจากเปิดตลาดใหม่แล้ว ยังทำให้รายเดิมจำต้องเพิ่มเงินสนับสนุนต่อเนื่องด้วย ดังกรณีเซ็นสัญญากับ เชฟโรเล็ต เป็นสปอนเซอร์หน้าอกด้วยมูลค่าปีละ 47 ล้านปอนด์ (ราว 2,350 ล้านบาท) นาน 7 ปี นอกจากนี้ยังเซ็นสัญญากับ ADIDAS แทน ไนกี้ มูลค่า 750 ล้านปอนด์ (37,500 ล้านบาท) ระยะเวลา 10 ปี มากกว่าเดิม 3 เท่า แล้วยังมีรายได้เพิ่มจากลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครั้งใหม่กว่า 5 พันล้านปอนด์ใน 4 ปี

ความสำเร็จที่ทำให้ผีแดงแรงฤทธิ์ ไม่ว่าผลการแข่งขันในสนามจะยังแกว่งหาความแน่นอนไม่ได้ ถูกยกให้เป็นฝีมือล้วน ๆ ของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เจ้าของฉายา “คริสเตียโน โรนัลโด้ ในโลกการตลาดของฟุตบอล” สามารถใช้การสร้างฐานแฟนบอลทั่วโลก และสัญญากับผู้สนับสนุนในตัวเลข และมูลค่าที่ไร้คู่แข่ง จนทำให้ตระกูลเกลเซอร์ จากสหรัฐฯ ที่หาญกู้เงินเข้ามาลงทุนแบบ LBO ปลื้มปีติกับความสำเร็จทางการตลาด จนมูลค่าทีมในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 320%

ผีแดงจะบรรลุปีทองในฤดูกาลหน้าหรือไม่ ถือเป็นภาคบังคับสำหรับโชเซ่ มูรินโญ่ เสียแล้ว เพราะสโมสร สำคัญกว่าบุคคลเสมอ

Back to top button