จับตา 5 หุ้นเสี่ยงฟองสบู่แตก กำไรทรุดหนัก-ราคาลดฮวบ

จับตา 5 หุ้นเสี่ยงฟองสบู่แตก กำไรทรุดหนัก-ราคาลดฮวบ


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 61ค่อนข้างย่ำแย่ จนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในไม่ช้า และถ้ามองย้อนกลับไปยังการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของราคาหุ้นที่เกินปัจจัยพื้นฐานไปมากนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 แต่สุดท้ายมาโดนเทขายอย่างหนักในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 จนส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเกือบ 30% ย่อมทำให้หุ้นเหล่านั้นกลายเป็นตัวอันตรายในทันที

โดยธุรกิจที่เข้าข่ายดังกล่าว และกำลังถูกพูดถึงกันมากในหมู่สังคมออนไลน์ได้แก่ “ธุรกิจเครื่องสำอาง” หลังมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง และเริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จนทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 61 ที่ประกาศออกมาไม่โดดเด่นเหมือนกับที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้  ส่งผลให้สภาพของหุ้นเหล่านั้นเละเทะไปกันใหญ่ แม้ในบางจังหวะจะปรับตัวขึ้นมาได้ แต่เป็นการปรับตัวขึ้นแบบไม่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวดูได้จากราคาหุ้นของ บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน)หรือ DDD ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 119 บาท เมื่อวันที่ 12 ก.พ.61 แต่หลังจากประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 61 ทำกำไรสุทธิได้ในระดับ 112.15 ล้านบาท ปรับตัวขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน  ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาทำจุดต่ำสุดที่  69 บาท เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นการลดลงถึง 38% และยังเป็นการซื้อขายบนค่า PE 50 กว่าเท่า น่าจะตีความได้ว่า กำไรไม่โตเหมือนกับที่พวกกองทุนตั้งเป้าไว้

ด้านธุรกิจเครื่องดื่มก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในทิศทางขาลงเช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง และหุ้นก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปี แต่ทันทีที่ผลประกอบการเริ่มส่อเค้าออกมาไม่ดีอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนของการทำธุรกิจสูงขึ้นจากการประกาศใช้ภาษีตามความหวานของเครื่องดื่ม ก็ทำให้หุ้นเหล่านี้หมดความน่าสนใจลงไปในทันที

โดย บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 61 ปรับตัวลดลง 41% มาที่ 245.62 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก พร้อมกับทำจุดต่ำสุดบริเวณ 106 บาท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ราคาหุ้นจะอ่อนตัวลงไปอีกเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวทางธุรกิจให้เห็นอีกเลย

เช่นเดียวกับ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 61 ปรับตัวลดลง 47% มาที่ 32.91 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก พร้อมกับทำจุดต่ำสุด 55.50 บาท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และมีรายงานข่าวออกมาว่า การแตกไลน์สินค้าต่างๆ กลายเป็นตัวถ่วงความสามารถในการทำกำไร เพราะไม่สามารถเจาะตลาดได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้น

สำหรับรายที่มีปัญหาหนักสุดในเที่ยวนี้กลายเป็น บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 61 ปรับตัวลดลง 92% มาที่ 9.46 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักทำจุดต่ำสุดที่ 16.60 บาท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพความตกต่ำของธุรกิจน้ำผักผลไม้ได้เป็นอย่างดี พร้อมกับชี้ให้เห็นต้นทุนในการทำธุรกิจกำลังสร้างปัญหาใหญ่ต่อบริษัท

ด้านธุรกิจขนมขบเคี้ยวอย่างเช่น บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรเหมือนกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรกลับไม่เป็นเหมือนอย่างที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ราคาหุ้นลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 และลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 15.60 บาท เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง 25% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 61 มีกำไรสุทธิ 151.72 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน 170.92 ล้านบาท


ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าก่อนการปรับตัวลงอย่างหนักของหุ้นทั้ง 5 ตัวล้วนเกิดจากผลการดำเนินงานทรุดตัวลงหนัก และถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงรุ่งเรืองของหุ้นเหล่านี้จะเห็นว่า นักลงทุนเข้ามาซื้อเก็งกำไรจากความเชื่อมั่นพื้นฐานของบริษัทอยู่ในทิศทางที่ดี จนราคาหุ้นวิ่งเกินราคาพื้นฐานไปมาก เมื่อราคาหุ้นเริ่มสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และซื้อขายบน P/E  ที่สูงกว่ากลุ่ม ก็ถึงคราวต้องปรับตัวลดลงสะท้อนความเป็นจริง

โชคดีที่ฟองสบู่ของธุรกิจดังกล่าวไม่แตกไปเสียก่อน จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนมีเวลาขายหุ้นเพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปได้ชั่วคราว แต่ในอนาคตอาจไม่โชคดีแบบนี้ก็ได้!

 

Back to top button