ติดเชื้อในกระแสเลือด

คำสั่งอันแปลกประหลาดฉบับที่ 63 / 2561 ลงวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2561 ของ ก.ล.ต. ที่ให้กรรมการบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ทุกรายจำนวน 5 คนเข้าประชุมคณะกรรมการในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ให้ IEC พ้นเหตุถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และให้กิจการดำเนินต่อไปได้โดยเร็ว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คำสั่งอันแปลกประหลาดฉบับที่ 63 / 2561 ลงวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2561 ของ ก.ล.ต. ที่ให้กรรมการบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ทุกรายจำนวน 5 คนเข้าประชุมคณะกรรมการในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ให้ IEC พ้นเหตุถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และให้กิจการดำเนินต่อไปได้โดยเร็ว

เหตุของคำสั่งคือ IEC ไม่ได้ส่งงบการเงินมา 2 ปีต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย และอาจเป็นเหตุให้ IEC ถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และในกำหนดการประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 ได้มีกำหนดวาระการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชีของบริษัท เพื่อให้ IEC สามารถนำส่งงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ และแก้ไขสถานการณ์ให้บริษัทพ้นเหตุถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วินิจฉัยว่า IEC ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 5 คนจึงจะครบเป็นองค์ประชุม ตามมาตรา 80 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

ปัจจุบันคณะกรรมการ IEC มีจำนวน 5 คน ซึ่งครบเป็นองค์ประชุมแล้ว ได้แก่ (1) นายเมธา  ธรรมวิหาร (2) นายภูริช  นานาวราทร (3) พลโท วัฒนา  เพ็ชรมงคล (4) นายสันติชัย  เตียวสมบูรณ์กิจ และ (5) นายพงศ์กวิน  จึงรุ่งเรืองกิจ

ก.ล.ต.จึงขอให้กรรมการทั้ง 5 รายข้างต้นเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัท ให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ และหากกรรมการรายใดไม่เข้าร่วมประชุม อาจเข้าข่ายพิจารณาได้ว่า กรรมการรายนั้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ  ซึ่ง ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัดต่อไป

เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการจำนวน 5 คน ยังยุ่งยากถึงขนาดนี้ คำถามคือบริษัทที่มีฐานะเข้าข่ายล้มละลาย ที่ย้อนแย้งกับอดีตอันเคยรุ่งเรืองเกือบ 100 ปีมาก่อนถึงขั้นเป็น “บริษัทตราครุฑ” มาแล้วจะหาทางกลับมารอดได้อย่างไร หลังจาก 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตกเป็นเหยื่อของเหลือบหลายกลุ่มเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำจนมีสภาพทรุดโทรมยิ่งกว่าคนไข้ติดเชื้อในกระแสโลหิต

ข้อเท็จจริงของ IEC นับแต่ปี 2557 บริษัทนี้มีการเพิ่มทุนทุกปี (ยกเว้นปี 2559) เหตุก็เพราะเงินสดในบริษัทมีไม่มากสำหรับทำโครงการลงทุนด้านพลังงานแบบ “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ทั่วประเทศ นอกเหนือจากโครงการลงทุนผลิดอกออกผลไปแต่ไม่คุ้มต้นทุนการเงินเลย เช่น โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่จังหวัดระยอง ที่ใช้เงินลงทุนจำนวน 663 ล้านบาท

การเพิ่มทุนซ้ำซาก โดยที่รายได้และกำไรของบริษัทไม่สอดรับกับวิศวกรรมการเงิน จนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นที่มีมากมายไม่มีประโยชน์ นอกจากนิยายน้ำเน่าเรื่องการสร้าง “วิมานเมฆ” อันเลิศลอย เพื่อเสริมปฏิบัติการสูบเงินจากตลาดหุ้นอีกครั้งหรือหลายครั้ง ก่อนที่ผีกระสือหุ้น จะจากไปโดยเหลือแต่ซากกิจการ

ปัจจุบัน IEC มีสภาพเป็นบริษัทเกือบเหลือแต่ซาก มีรายได้-กำไรไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้ส่งงบการเงินมาต่อเนื่อง 9 ไตรมาสแล้ว….นับแต่งวดสุดท้ายที่ส่งคือไตรมาสแรก 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากนายภูษณ ปรีย์มาโนช สละโลกิยะไปบวชเล็กน้อย

เมื่อไม่มีงบการเงินให้ดู หุ้นบริษัทนี้ ก็ได้ถูกตลาดฯ สั่งห้ามซื้อขายนานเกือบ 2 ปีแล้ว 

ที่สำคัญการเพิ่มทุนหลายครั้งมาก ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นสามัญของ IEC กลายสภาพเป็นเบี้ยหัวแตก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือกลุ่มนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถือครองไม่เกิน 10% ด้วยซ้ำ

ปีที่ผ่านมา นายโกมลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สุด (และมีลูกชายคือนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานกรรมการบริษัท) แล้ว ยังเป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้ IEC หลายร้อยล้านบาท ใช้ความพยายามให้หุ้นกลับมาเทรดครั้งใหม่ ทำท่าเกือบสำเร็จ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่มีนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานกรรมการ มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียน จำนวน 203,591,502,350 หุ้น พาร์หุ้นละ 0.01 บาท เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นใกล้เคียงพาร์ 0.01 บาท หุ้นละ 0.0125 บาท กำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้นวันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2560

การเพิ่มทุนครั้งนี้ คาดว่าหากขายหุ้นได้หมดจะได้เงินสดเข้ากิจการ 2,544 ล้านบาท ….กระทำหลังจากมติลดทุนจดทะเบียนหุ้นส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายลง โดยมีเหตุผลของการเพิ่มทุน คือ “…ใช้รองรับการขยายงานในธุรกิจพลังงาน..” นับแต่ 1) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 201 ล้านบาท 2) ส่วนที่เหลือ 2,343 ล้านบาท จะใช้สำหรับ 2.1) โรงงานรีไซเคิลผลิตเม็ดพลาสติก (Plastic Recycling Business Unit) เพื่อสะสางหนี้ค้างชำระและภาระผูกพันทางการเงิน 20 ล้านบาท และปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อยกระดับการผลิต 40 ล้านบาท 2.2) ใช้เป็นทุนสำรองประมูลโครงการ (BG) 20 ล้านบาทในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.3) ใช้สำหรับบริษัท จีเดค จำกัด สำหรับโรงงานกำจัดขยะและแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า 2.4) การเตรียมเงินสด รวมถึงแผนจะเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังการผลิต 9 MW

ที่ผ่านมา นายโกมล ทุ่มเทกับ IEC ไม่น้อย และยังต้องมีอนาคตร่วมกันต่อ เพราะเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2560 บอร์ดของ IEC มีมติอนุมัติให้บริษัทกู้ยืมเงินจากนายโกมล ในวงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง ภายในเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี กำหนดจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยภายใน 1 ปี (มีเงื่อนไขยืดหยุ่นมาก ในกรณีครบกำหนดชำระแล้ว ผู้กู้ยังไม่สามารถชำระคืนหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย) โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรี รวม 4 แปลง เนื้อที่รวม 119 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์รวม 24.77 ล้านบาท

มองโดยภาพรวม เจตนารมณ์ของนายโกมล ควรได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ เกือบเป็นเอกฉันท์ หากว่าไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นนำโดยนายทิศชวน นานาวราทร นักลงทุนขาใหญ่ ออกโรงตั้งแต่แรก และดังขึ้นเรื่อย ๆ คัดค้านแผนการเพิ่มทุน อ้างเหตุว่า 1) ทำไมต้องเพิ่มแบบ RO และ 2) ทำไมต้องเพิ่มเพราะส่วนผู้ถือที่มีอยู่ก็เยอะแยะ

เสียงค้านอย่างนี้ ไม่ได้ทำให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 20 ตุลาคมนี้มีปัญหา เพราะในที่สุดมติเสียงข้างมากก็เห็นพ้องกับคณะกรรมการ แต่หลังจากนั้น มติดังกล่าวก็ยังไม่มีผลบังคับ เพราะกลุ่มนายทิศชวน ยื่นขอความคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล ซึ่งศาลก็รับไว้ดำเนินการ ผลลัพธ์คือมติที่ประชุมต้องค้างเติ่ง ทำอะไรต่อไม่ได้

ระหว่างนี้ มีเรื่องแทรกเข้ามา IEC ตกเป็นจำเลยร่วมกับอดีตผู้บริหารอีก 3 ราย ในกรณี โรงไฟฟ้าหนองรี เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2560 ในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย ที่ต้องติดตามทวงคืนในอนาคตอีก

ความขัดแย้งและปัญหาทางการเงินที่ไม่สามารถปิดงบได้ ทำให้อนาคตของ IEC ริบหรี่ มองแทบไม่เห็นแสงสว่างแม้แต่น้อย คำถามคือ หากการประชุมเกิดขึ้นตามคำสั่งของ ก.ล.ต.จริง แล้วมีมติ ก็จะมีการยื่นเรื่องให้การประชุมเป็นโมฆะอีก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ยากจะคาดเดาจริง ๆ

การดำรงอยู่ด้วยอาการโคม่าของบริษัทอย่าง IEC นี้ เป็นหนึ่งในความอัปลักษณ์ที่แก้ไม่หายของตลาดหุ้นไทย ที่สำคัญคือ ไม่ได้มีแค่บริษัทเดียวที่มีสภาพเยี่ยงนี้ 

โดยเฉพาะที่มาที่ไปของราคาหุ้นเพิ่มทุน 1.25 สตางค์ ที่ลดลงจากการเพิ่มทุนครั้งสุดท้ายตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา (ซึ่งมีราคาคุยตามมาว่าเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมมากเกินกว่า 35.61% หลังจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา IEC ได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นหลายครั้ง แต่ผู้เข้าประชุมหร็อมแหร็มมาตลอด) ที่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 8 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 0.022 บาท หรือ 2.20 สตางค์ เกือบ 50%

ทำไมนายโกมล ถึงออกตัวแรง ทั้งที่ปกติเก็บตัวเงียบเชียบมาตลอด เข้าข่าย “เสือซุ่ม มังกรเร้นกาย” มายาวนาน แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE … คำตอบคงไม่ใช่ “เห็นแก่ลูก” ที่เป็นประธานบอร์ดแน่นอนที่ (มีมูลค่าทางบัญชี ณ ขณะที่บริษัทได้ที่ดินเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 มูลค่า 156.22 ล้านบาท และวันที่ 6 ก.ค. 2559 บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินอิสระของที่ดินที่ 167.39 ล้านบาท) มาค้ำเงินกู้เอาไว้

นายโกมลย้ำว่า มีความเชื่อมั่นในอนาคตของ IEC ว่าหากผ่านมติเพิ่มทุนนี้ได้ จะแจ้งเกิดใหม่ได้แน่นอน…ทำนองเดียวกับที่เคยเชื่อมั่นในการเข้าลงทุนฟื้นฟู APURE จากบริษัทที่มีแต่ซาก จนกลับมามีกำไรปกติหลายปีต่อเนื่อง… เป็นที่ประจักษ์

คำประกาศของนายโกมล จะมีเหตุผลทำให้นักลงทุนที่ถือ IEC ไม่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากการเพิ่มทุน มากน้อยแค่ไหน… พึงติดตาม อย่ากะพริบตาในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ตามฤกษ์ชี้ขาด เดิมพันสำคัญของนายโกมลครั้งนี้ คือ การได้ IEC กลับมาเทรดใหม่ และการส่งงบการเงินที่ขาดส่งมายาวนาน ส่วนเดิมพันของนายทิศชวน กับพวก…ไม่ (มีใคร) รู้ เพราะไม่เคยเปิดตัว

Back to top button