พาราสาวะถี

ปมปัญหาจากการไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม การเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุยของ วิษณุ เครืองาม เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความจริงว่า ผู้มีอำนาจรู้ดีสิ่งที่ตัวเองคิดและตัดสินใจนั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อการเดินหน้าไปสู่โรดแมปการเลือกตั้งตามคำสัญญาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำนักย้ำหนาว่าจะต้องเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า


อรชุน

ปมปัญหาจากการไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม การเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุยของ วิษณุ เครืองาม เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความจริงว่า ผู้มีอำนาจรู้ดีสิ่งที่ตัวเองคิดและตัดสินใจนั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อการเดินหน้าไปสู่โรดแมปการเลือกตั้งตามคำสัญญาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำนักย้ำหนาว่าจะต้องเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ยิ่งการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ยิ่งเป็นตัวสร้างปัญหา สุดท้ายเพื่อไม่ให้เกิดการเสียหน้าจึงต้องหาทางเยียวยาแก้ไข ก่อนที่จะมีการนัดหมายพรรคการเมืองหารือระลอกแรก โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ซึ่งจากท่าทีที่แสดงออก ไม่มาก็ไม่ต้องมาและไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดหรือไลฟ์สด วันนี้มีสองพรรคการเมืองคือเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ประกาศชัดไม่ร่วมสังฆกรรมแน่นอน

นั่นคงไม่ใช่ปัญหาของผู้มีอำนาจ เพราะถือเป็นพรรคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่แล้ว การไม่เข้าร่วมก็ย่อมที่จะหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองด้วยจำนวนของพรรคส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกันก็จะต้องชี้ให้เห็นว่าพรรคที่ไม่เข้าร่วมนั้นมีปมอย่างหนึ่งอย่างใด ถือเป็นการดิสเครดิตไปในตัว สำหรับคนที่จะสืบทอดอำนาจล้านเปอร์เซ็นต์

สิ่งที่ต้องจับตามองจากวงหารือที่วิษณุนั่งหัวโต๊ะคือ จะใช้วิธีการใดในการแก้ไขปัญหาในระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อกหรือถ้าคลายล็อกพรรคการเมืองจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล ดักคอไว้ก่อนแล้ว วิธีการที่จะใช้ดูยังไงก็เป็นเหมือน “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งวุ่นกันไปใหญ่

แต่เมื่อลงทุนตั้งวงถกกันขนาดนี้แล้ว คงต้องเดินหน้าเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด การตราพระราชบัญญัติหรือใช้มาตรา 44 ซึ่งหากจะให้เร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็หนีไม่พ้นมาตรายาวิเศษ คำถามที่ตามมาบทสรุป 4 ข้อจากวงหารือดังกล่าวนั้น ครอบคลุม เพียงพอและตรงต่อความต้องการของพรรคการเมืองที่เรียกร้องหรือไม่

เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า เรื่องการบริหารจัดการกำหนดเวลาต่าง ๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ผูกกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับกกต.ชุดใหม่นั้น ไม่ถือเป็นปัญหาของพรรคการเมือง เพราะเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ที่ผู้มีอำนาจว่าจะทำให้ช้าหรือเร็ว ต้องการจะให้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้งส.ส.

ปัญหาของการเลือกตั้งท้องถิ่นเวลานี้อยู่ที่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 ฉบับซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา นั่นถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงว่าจะเร่งรัดอย่างไร ถ้าได้ข้อสรุปแล้วส่งให้สนช.ยกมือผ่านก็ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ เช่นเดียวกับกกต.ชุดใหม่ถ้าอยากให้เข้ามาจัดการเลือกตั้งก็ต้องเร่งรัดสนช.ในการพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งทั้ง 7 คน แต่ถ้าเสร็จไม่ทันแล้วจำเป็นจะต้องเลือกตั้งกกต. 4 คนที่รักษาการอยู่ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้

ปัจจัยข้อนี้จึงไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมือง แต่อีก 3 เรื่องนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะไม่ได้เป็นปัญหาชีวิตแค่กับพรรคการเมืองเก่าเท่านั้น หากแต่พรรคใหม่โดยเฉพาะพรรคของคสช.ก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นต่อการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ที่วันนี้ถ้าจะปลดล็อกให้ผู้มีอำนาจยังลังเลอยู่ว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้

ขณะที่ส่วนปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกันคือ คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวกับขั้นตอนการประชุมใหญ่ การทำไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน

ตรงนี้คือปัญหาสำคัญของพรรคการเมือง ที่ไม่อาจจะดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากติดขัดที่คำสั่งของคสช. ดังนั้น หากผู้มีอำนาจมองแค่ว่าคลายล็อกเพื่อให้ทำได้ใน 3 ประการดังว่า ต้องดูกันต่อไปว่า ยังมีประเด็นอื่นที่จะเป็นเรื่องต่อเนื่องกันด้วยหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นว่า พอทำเรื่องนี้แล้ว ปรากฏว่าเรื่องนั้นจะต้องตามมาด้วย ถ้าห่วงแต่เรื่องความมั่นคงแล้วแก้ปัญหากันแบบปะผุ ก็เกรงว่าการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามความพอใจของผู้มีอำนาจ จะเป็นการแก้ปัญหาที่เปล่าประโยชน์

มองกันอย่างยอมรับความจริง อย่างที่ชูศักดิ์ตั้งข้อสังเกตไว้ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการออกคำสั่งคสช. ทางแก้ที่ถูกต้องคือการปลดล็อกไม่ใช่คลายล็อก เมื่อปัญหาเกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ก็ควรยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก รวมถึงยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการล็อกกิจกรรมทางการเมือง และการที่ยังคงยึกยักเช่นนี้ สิ่งที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือ หากเป็นการแก้แบบปะผุหรือแก้ไม่ถูกจุด สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้น หาเหตุขยายโรดแมปเลือกตั้งออกไปเสียฉิบ

ดูเหมือนว่าไม่ใช่เฉพาะซีกเพื่อไทยเท่านั้นที่มองแบบนี้ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นไม่ต่างกัน เพราะปัญหานี้มีจุดกำเนิดมาจากคสช. ถ้าคสช.ตัดสินใจแก้ปัญหาถูกวิธีก็มีโอกาสที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป แต่ถ้าคสช.แก้ปัญหาไม่ถูกวิธีก็มีโอกาสที่ปัญหาจะบานปลายออกไป กลายเป็นวัวพันหลักจนยากต่อการแก้ไข และอาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

การหาทางออกแก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นความรับผิดชอบของคสช.โดยตรง โดยคำถามที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ คสช.ยังจะยึดประโยชน์รัฐบาลเป็นสำคัญ อ้างความมั่นคงแล้วหาทางเลี่ยงบาลีต่อ หรือจะมองประโยชน์ที่จะเกิดกับพรรคของคสช.โดยตรง ซึ่งน่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะถือเป็นการได้สองเด้ง เด้งที่สองคือทำให้ผู้นำไม่ผิดคำสัญญาอีกเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง

Back to top button