คัด 17 หุ้นเด่นลุ้นงบฯ Q2/61 หรูน่าเก็บ! ชูอัพไซด์สูง-เป้าทำ Window Dressing

คัด 17 หุ้นเด่นลุ้นงบฯ Q2/61 หรูน่าเก็บ ชูอัพไซด์สูง-เป้าทำ Window Dressing


สัปดาห์นี้ประเด็น Window Dressing อาจช่วยกระตุ้นตลาดฟื้นตัวได้ในช่วงก่อนปิดงวดไตรมาส 2/61 ปลายเดือนนี้ประเด็นดังกล่าวนักวิเคราะห์หลายแห่งได้คัดเลือกกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายในการเข้าทำ Window Dressing โดยครั้งนี้มีกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจและน่าเข้าลงทุน

ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศดังกล่าว“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมกลุ่มหุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 จะออกมาโดดเด่นมานำเสนอ โดยครั้งนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ชั้นนำของไทย ซึ่งได้คัดเลือกหุ้นที่คาดว่าจะประกาศงบไตรมาส 2/61 ออกมาดีทั้งเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบไตรมาสก่อนหน้า อาทิ BANPU,BCH,BEM,CMAN, JWD,LPN,PLANB,PSL,QH,SEAFCO,SC,TPIPP,UTP,COM7,MC,ROJNA,SF นอกจากนี้ยังได้รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์หลายแห่งมาประกอบเพื่อให้เห็นทิศทางและเป็นข้อมูลตัดสินใจเข้าลงทุนไว้ดังนี้

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า “Window Dressing” มักจะมีการกล่าวถึงในช่วงสิ้นไตรมาส เนื่องจากราคาหุ้นบางตัว (รวมทั้งตลาดโดยรวม) มักปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดีทั้งจากนักลงทุนสถาบัน กองทุน และบริษัทอื่นๆ ที่ลงทุนในหุ้น ด้วยการซื้อเพื่อผลักดันราคาหุ้นให้ปิดสูงขึ้น ทำให้พอร์ทที่ลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการศึกษาความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายเดือนของทุกไตรมาส

ย้อนหลังนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2009 เป็นต้นมา เราพบว่าภาพรวมมีโอกาสเฉลี่ยประมาณ 60% ที่จะเกิดผลกระทบ Window Dressing โดยไตรมาสที่มีโอกาสเกิดผลกระทบ Window Dressing มากไปหาน้อย คือ ไตรมาสที่ 1 มีโอกาสเกิด Window Dressing 70%, ไตรมาสที่ 2 และ 4 มีโอกาสเกิดเท่ากันที่ 67% และไตรมาสที่ 3 มีโอกาสเกิดน้อยที่สุดที่ 33% ส่วนในแง่ผลตอบแทน Window Dressing โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 อยู่สูงที่สุดที่ +1.9% ตามด้วยไตรมาสที่ 1, ไตรมาสที่ 4 และไตรมาสที่ 3 ที่ +0.6%, +0.1% และ -0.7% ตามลำดับ

ขณะที่กระแสเงินทุนตปท.ไหลออกเริ่มแผ่วลงอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวานนี้พลิกมาซื้อสุทธิเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ บวกกับประเด็น Window Dressing ใน Q2 ที่มีโอกาสเกิด 67% และมักให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย +1.9% แนวรับ 1600-10 แนวต้าน 1630+/-, 1640-45 โดยหุ้นงบ 2Q18F เบื้องต้นจะออกมาดี YoY & QoQ – BANPU, BCH, BEM, CMAN, JWD, LPN, PLANB, PSL, QH, SEAFCO, SC, TPIPP, UTP / YoY – COM7, MC, ROJNA,SF

สำหรับบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU คงเป้าปริมาณการขายถ่านหินปีนี้ 45 ล้านตัน แม้ปัจจุบันจะมีปริมาณขายถ่านหินล่วงหน้าไปแล้ว 97% ของเป้าทั้งปี ซึ่งส่วนหนึ่งได้ล็อคราคาขายไปแล้ว แต่ยังเหลืออีก 71% ของปริมาณขายล่วงหน้าที่ยังไม่กำหนดราคาขาย อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าราคาขายถ่านหินในปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 80-85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 104-107 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 คาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ปริมาณการขายถ่านหินผ่านจุดต่ำสุดของปีในช่วงไตรมาสแรก และราคาขายถ่านหินยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ายังดำเนินต่อไปตามปกติ ไม่มีการปิดซ่อมบำรุง และไม่มีการบันทึกค่าใช้พิเศษคดีโรงไฟฟ้าหงสาเข้ามากดดันเหมือนที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/61 ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป

บล.เออีซี ระบุว่า บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH (BUY:[email protected]): ช่วง 2Q61แม้กำไรจะอ่อนตัว QoQ ตามฤดูกาลแต่คาดยังเติบโตดีYoY หลังปีนี้อากาศแปรปรวนสูงและ WMC มีฐานลูกค้าเพิ่มต่อเนื่องส่วนรายได้ SC คาดยังโต 7%YoY หลังมองการรับรู้ผลปรับขึ้นค่าบริการจะช่วยชดเชยผลกระทบจากจำนวนผู้ประกันตนที่ลดลงได้หนุนให้ปี 61 คาดกำไรโต 14.8%YoY + มี Upside 20%

บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  สถิติสำคัญที่เติบโตต่อเนื่อง ใน เดือน พ.ค. โดยธุรกิจทางด่วนปริมาณรถอยู่ที่ 1.2 ล้านคันต่อวัน (+1.4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 27 ล้านบาท (+2.3%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่ธุรกิจรถไฟฟ้ามีจำนวนผู้โดยสาร 2.95 แสนคนต่อวัน (+7.7%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 7.4 ล้านบาท (+10%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน)

มุมมองเป็นเชิงบวกต่อผลประกอบการใน 2Q61 จากสถิติสำคัญของบริษัทที่ยังคงเติบโตได้แข็งแกร่งต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะยาวใน 1Q61 โดยช่วงต้นเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมาราคาปรับตัวลงมากว่า 8% มองเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสมที่ 9.8 บาท (Upside 29%)

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN คาดกำไรดีชึ้นใน 2Q18 เนื่องจากเตา KK6 เดินเต็มที่และดอกเบี้ยจ่ายลดลง : กำไร 1Q18 ออกมาต่ำกว่าที่เราคาด เนื่องจากทั้งยอดขายและ Gross margin ต่ำกว่าที่เราคาด แต่เรายังคงมุมมองในทางบวกต่อหุ้น CMAN โดยเราคาดว่ากำไรจะเริ่มเติบโต YoY ใน 2Q18 เนื่องจากเตา KK6 เดินเต็มที่เต็มทั้งไตรมาส และการปรับราคาส่งออกและราคาขายระยะยาวเพื่อสะท้อนเงินบาทที่แข็งค่าทำได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะลดลงหลังจากที่บริษัทนำเงินที่ได้จากการทำ IPO ชำระคืนหนี้สิน เราคงประมาณการกำไรของเราและคำแนะนำ “ซื้อ” โดยมีราคาเป้าหมายที่ 6 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD  ประเมินมูลค่าที่เหมาะสม 11.50 บาท หนุนโดยรายได้ในระยะยาวรวมถึงอัตรากำไรที่ดีขึ้น ปรับรายได้ปี 2018-19F เพิ่มขึ้น 28% และ 30% ตามลำดับ จากธุรกิจใหม่ แต่ด้วยผลกระทบของ REIT ทำให้เราคาดอัตรากำไรจะลดลงเป็น 28.8% และ 29.6% สำหรับปี 2018-19F จากเดิม 32.5-35.5% ตามลำดับ ทำให้ผลประกอบการลดลง 25% และ 11% ตามลำดับ โดยเรามองว่าผลประกอบการหากไม่รวมผลของ REIT จะเพิ่มขึ้น 105% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 65% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2018-19F

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กำไรในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/61 จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เนี่องจากจะมีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่โอนเพิ่มมาอีก 1 โครงการ คือ ลุมพินี วิลล์ พระนั่งเกล้า-ริเวอร์วิว และการโอนโครงการต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่มีโครงการใหม่ 3 โครงการ ส่งผลให้แนวโน้มกำไรดีกว่าไตรมาส 2/60 อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจจะยังทรงตัวจากไตรมาส 1/61 เพราะโครงการใหม่ที่เริ่มโอนในไตรมาสนี้ทำยอดจองไม่มากนักโดยอยู่ที่เกือบ 30%

อย่างไรก็ตาม ยังคงประมาณการกำไรของ LPN ในปี 61 เติบโต 51% จากปีก่อน หลังจากที่การโอนโครงการต่างๆเป็นไปตามแผนงาน และการทยอยขายโครงการที่อยู่ในสต็อก ประกอบกับการที่ LPN มีการกระจายรายได้ไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอี่นๆ มากขึ้น ล่าสุดได้เปิดตัวอาคารสำนักงานใหม่ย่านวิภาวดี ซอย 3 จะหนุนการสร้างรายได้ประจำในอนาคต และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป

บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB  (เป้าพื้นฐาน 7.95 บาท) 1) ประเมินแนวรับ 6.1 บาท / แนวต้าน 6.70 – 6.95 บาท (Stop loss 6.0 บาท) 2) ประเมินแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่เติบโตเด่นตามภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ส่วนหนึ่งรับอานิสงส์จากการปลดล๊อกการเลือกตั้งในต้นปีหน้า) จะหนุนแนวโน้มผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะใน 2H61 3) คาด Earnings momentum จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 โดยปกติเป็น High Season ของธุรกิจ, 3Q61 เริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนในธุรกิจ BNK, 4Q61 คาดดีมานด์การสื่อโฆษณาโตเด่นก่อนการเลือกตั้ง

บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL ดัชนีค่าระวางเรือล่าสุด 1,340 จุด ปรับเพิ่ม 29% ในรอบสัปดาห์ และเป็นการปรับขึ้น 5 วันติดต่อกัน มองเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มเดินเรือ ด้าน Consensus มีมุมมองเป็นบวกต่อผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 61 และประเมินผลประกอบการปี 61 จะพลิกกลับมาเป็นกำไร สัดส่วนสัญญาเช่าเรือระยะยาว (ปี 2561 – 65) ปรับเพิ่มต่อเนื่อง ลดความผันผวนของรายได้ในระยะยาว ขณะที่ภาพรวมธุรกิจ Demand ขยายตัวมากกว่าจำนวนกองเรือที่เพิ่มขึ้น (ข้อมูลจาก Clarksons) ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาจากเดือนก่อน ราว 14% ทำให้ Downside Risk จำกัด มองเป็นจังหวะในการสะสม พร้อมให้มูลค่าเหมาะสมเฉลี่ยที่ 14.68 บาท (IAA Consensus / Upside 28%)

 

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH แนะนำ“ซื้อ”หุ้นให้ราคาป้าหมายที่ 4.20 บาทต่อหุ้น โดยแนวโน้มกำไรของ QH ในปี 2561 คาดว่าจะทำได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 3.5 พันล้านบาท ทำให้ปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านบาท หลังจากที่ไตรมาส 1/61 มียอดโอนที่สูงมาก

รวมทั้งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นเป็นสถิติสูงสุดใหม่ราว 34% จากการที่หันมาเน้นการเพิ่มกำไร และการขายโครงการแนวราบที่สามารถสร้างรายได้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งคาดว่าแนวโน้มกำไรที่สูงขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลังจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียม คิว สุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่ให้มาร์จิ้นดี หนุนกำไรในปีนี้

อย่างไรก็ตามยอดขายในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สูงกว่าไตรมาส 1/61 เพราะหากเทียบกับงวดปีก่อนจะเห็นว่าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/61 (เม.ย.-พ.ค.) แทบไม่มีการเปิดโครงการใหม่ แต่จะไปกระจุกตัวในช่วงเดือนมิ.ย. ซึ่งจะทำให้ยอดขายเดือนมิ.ย.สูงขึ้น และบางส่วนจะไปสนับสนุนยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมองว่าครึ่งปีหลังของปีนี้ยอดขายจะสูงกว่าครึ่งปีแรกด้วย โดยที่ QH มีแผนการเปิดอีก 8 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการรวม 6.4 พันล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO  แนะนำซื้อพร้อมให้ราคาเป้าหมาย 11 บาทต่อหุ้น โดยมีมุมมองในเชิงบวกต่อการดำเนินงานของ SEAFCO จากโครงการที่มีศักยภาพหนุนผลประกอบการที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต

โดยคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เมื่อเทียบจากปีก่อนและโต 25% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการ One Bangkok ทำให้คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตขึ้นต่อในครึ่งหลังปี 61 และในปี 62 จากการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น

 

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC  แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 4.80 บาทคาดกำไรไตรมาส 2/2561 จะเติบโตเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ และทิศทางดังกล่าวจะต่อเนื่องไปในไตรมาส 3 และ 4 ทั้งนี้การที่การดำเนินงานยังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ราคาหุ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมากลับลดลง 8.4% ซึ่งเปิด upside จากราคาปิดล่าสุดสู่ราคาเป้าหมายกลางปี 2562 ของเราที่ 4.80 บาทเป็น 37.14% และทำให้ราคาปิดล่าสุดซื้อขายบน PER ปี 2561 เพียง 7.0x และ PBV ที่ 0.89x เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่โดยผลประกอบการที่จะดีขึ้นในครึ่งปีหลังจะเป็นส่วนสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นที่สำคัญ

 

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ตั้งเป้ารายได้ปี 62 จะเพิ่มขึ้นเป็น 13,500-14,000 ล้านบาท หลังจากคาดว่าจะทยอยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบ 440 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ในปี 62 สามารถรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตทั้งหมดได้เข้ามาเต็มปี ขณะที่เดียวกันยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมลงทุน หรือเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทนต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนภายในปีนี้

สำหรับในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรายได้ที่ระดับ 9,500-10,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ารายได้จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก จากปริมาณการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ TG6 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง TG4 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วทั้งสิ้น 5 โรง กำลังการผลิตรวมเป็น 220 เมกะวัตต์

 

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 13.60 บาท/หุ้น ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง หนุนให้หุ้น UTP ปรับตัวขึ้นถึง 27%YTD outperform SET ที่ผลตอบแทนติดลบ 7% เรามองว่าแนวโน้มผลประกอบการ 2Q18 ที่คาดจะดียิ่งกว่า 1Q18 จะหนุนให้ราคาหุ้น outperform ได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดมาร์จิ้นจะดีขึ้นจาก 1) การรับรู้ต้นทุนเศษกระดาษนำเข้าที่ถูกเพียง 6 บาท/กก. (เทียบกับปกติที่ต้นทุนราว 7 บาท/กก.) 2) การเดินเครื่องที่ได้กำลังการผลิตสูงถึง 630 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เทียบกับ 560 ตัน/วัน ซึ่งประมาณการกำไรของเรามีโอกาสปรับขึ้นหากบริษัทเดินเครื่องได้ดีกว่าคาด ปัจจุบันหุ้นเทรด P/E 17 เท่า นับว่าไม่แพงเทียบกับการเติบโตในระดับ 41% ในปีนี้ และมีอัพไซด์

 

บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 คงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% หลังรายได้ในไตรมาส 1/61 โต 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามการเติบโตในกลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ สมาร์ทโฟน และกลุ่มสินค้า accessory เป็นต้น ขณะที่มองผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 น่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และในครึ่งปีหลังก็น่าจะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งบริษัทก็จะเน้นการขายสินค้าใหม่ประเภท accessory มากขึ้น

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC สำหรับใน 2Q18F คาดจะเห็นแนวโน้มที่เติบโตได้ดี YoY เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว การฟื้นตัวของการใช้จ่ายที่ดีขึ้น และเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนทั้งโปรโมชั่นและผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆจะช่วยหนุนลูกค้าที่เข้าร้านมากยิ่งขึ้น และการเข้าไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อิหร่าน เมียนมาร์ ลาว น่าจะทำให้ทั้งในแง่รายได้และผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นได้ ดังนั้นยังคงแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ MC ด้วยราคาเป้าหมาย 14.80 บาท (DCF) โดยเรามองว่าบริษัทน่าจะผ่านช่วงที่แย่ไปแล้วในปีที่ผ่านมา และคาดจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นในปีนี้และปีถัดๆไปตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ

 

บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เปิดเผยว่า บริษัทอาจประเมินเพื่อปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ปี 61 จากเดิมตั้งเป้าไว้ราว 8 พันล้านบาท โดยคาดว่ารายได้รวมปีนี้จะสูงขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันมียอดจองพื้นที่เข้ามาค่อนข้างมาก จากกระแสตอบรับที่ดีหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้นักลงทุนส่วนมากสนใจในสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยบริษัทอาจปรับราคาขายที่ดินเพิ่ม อีกทั้งลูกค้าบางกลุ่มสนใจและสอบถามเข้ามาเพื่อการย้ายโรงงานเข้ามาในพื้นที่ EEC ด้วย โดยบริษัทยังคงตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินปีนี้ราว 400-500 ไร่ จากที่มีพื้นที่พร้อมขายทุกโครงการรวม 4.5 พันไร่

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF คงประมาณการปี 2018-19F และแนะนำให้ “ซื้อ” : จากอัตราการขึ้นค่าเช่าที่ 3% ต่อปี และเราคาดอัตรากำไรขั้นต้นและ SG&A ต่อยอดขายที่ 60% และ 17.2% ตามลำดับ ซึ่งผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นมาจาก Mega บางนา เป็นหลัก (การปรับขึ้นค่าเช่าทุก 3 ปีครบกำหนดในปี 2019F), พื้นที่ให้เช่าของโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น (คาดมีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรม หรือ a gain on fair value adjustment) และโครงการ Mega รังสิตในปี 2023F แนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 9.80 บาท (SOTP)

Back to top button