วิกฤติหนี้ตุรกี คือวิกฤติยุโรป

ไม่มีใครู้ว่าเจตนาของโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงาน ในการสั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่า ซึ่งยังผลให้ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และวานนี้หุ้นเอเชีย (ยกเว้นไทยที่ปิดทำการหยุดยาว) แดงยกแผงกันเลยทีเดียวจากอาการปริวิตกถึงค่าเงินที่ผันผวน และปัญหาวิกฤติหนี้ระลอกใหม่ที่จะตามมา


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ไม่มีใครู้ว่าเจตนาของโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงาน ในการสั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่า ซึ่งยังผลให้ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และวานนี้หุ้นเอเชีย (ยกเว้นไทยที่ปิดทำการหยุดยาว) แดงยกแผงกันเลยทีเดียวจากอาการปริวิตกถึงค่าเงินที่ผันผวน และปัญหาวิกฤติหนี้ระลอกใหม่ที่จะตามมา

ผลพวงของการขึ้นอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าไปยังสหรัฐฯ จากตุรกี จะอยู่ที่ 50% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 20% เท่ากับตอกย้ำความสัมพันธ์ของกับตุรกีไม่ราบรื่นในขณะนี้ หลังการเจรจาหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤติทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ ประสบภาวะชะงักงัน

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งถูกทางการตุรกีควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของบุคคลทั้งสอง และชาวสหรัฐฯ จะถูกห้ามทำธุรกรรมกับพวกเขา    

ผลลัพธ์จากคำสั่งการดังกล่าว มีผลทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีถูกกดดันต่อไป หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา

นายเออร์โดกัน กล่าวว่า ตุรกีกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจ และตุรกีจะตอบโต้ประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามดังกล่าว และย้ำว่า ดอลลาร์จะไม่สามารถสกัดการขยายตัวของตุรกี และเขาเรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มการผลิต และการส่งออก

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ซึ่งถือพันธบัตรของรัฐบาลตุรกีค่อนข้างเยอะ

ลีราได้ทรุดตัวลง 33% เทียบดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น, การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง หลังจากที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของตุรกีไม่กี่เดือนก่อน เพื่อเพิ่มเวลาให้นายเออร์โดกันอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 15 ปี

การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี

ปัญหาเรื่องหนี้ของตุรกี ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2544 (ค.ศ. 2001) จนนำมาซึ่งการปฏิรูปที่เริ่มโดยรัฐมนตรีคลังในขณะนั้น เกมัล เดร์วึช ทำให้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงเหลือเป็นเลขหลักเดียว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และการว่างงานลดลง ตุรกีเป็นต้นแบบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหลายปี จากความพยายามเปิดกว้างระบบตลาดมากขึ้นผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยลดการควบคุมจากรัฐบาลด้านการค้าต่างประเทศและการลงทุน และการแปรรูปอุตสาหกรรมของรัฐ การเปิดเสรีในหลายด้านไปสู่ภาคเอกชนและต่างประเทศ แม้จะมีการโต้เถียงทางการเมืองมากขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ทำให้สัดส่วนหนี้ระหว่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนกลายมาเป็นวิกฤติเงินตราและหนี้ตุรกีล่าสุด

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและหนี้เงินตราต่างประเทศมากเกินของเศรษฐกิจตุรกี กอปรกับความเป็นเผด็จการที่เพิ่มขึ้นของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน และความคิดแหวกประเพณีของเขาเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย 

เดิมทีนั้นนโยบายการเงินพิสดารของนายเออร์โดกัน เป็นที่ขึ้นชื่อลือเรื่องการลดค่าเงินครั้งสำคัญเป็นระลอก แต่ความน่ากังวลยังไม่เท่ากับแนวโน้มของการผิดนัดชำระหนี้และการหดตัวทาง ศรษฐกิจ

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อแตะสองหลักทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ตามมา ในขณะที่มีข้อมูลจากธนาคาร BIS ระบุว่า ภาคธนาคารพาณิชย์ของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน

ปัญหาของเงินลีรายามนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่า และใหญ่เกินกว่าเรื่องเมซุด โอซากิ นักฟุตบอลดาวเด่นเยอรมันเชื้อสายเติร์กอำลาทีมชาติเยอรมันเพราะไปถ่ายรูปคู่ (เสมือนช่วยหาเสียง) กับเออร์โดกัน

ในอดีต นโปเลียน เคยบอกว่า “อย่าทำให้พวกเติร์กโกรธ” แต่ยามนี้ต้องเปลี่ยนเป็น “อย่าทำให้เติร์กป่วย” เสียแล้ว

Back to top button