มายากลของทรัมป์

พอมีเสียงกระซิบว่า โดนัลด์ ทรัมป์และสายเหยี่ยวในทำเนียบขาวพร้อมแล้วสำหรับสงครามการค้าระลอกใหม่กับจีน ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเลยหวาดผวากันทั่วหน้า ทำท่าจะไปต่อไม่ไหว ดัชนีดาวโจนส์เลยย่อตัวกลับมาใต้ 26,000 จุด และแนสแด็กลงมาใต้ 8,000 จุดอีกครั้ง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

พอมีเสียงกระซิบว่า โดนัลด์ ทรัมป์และสายเหยี่ยวในทำเนียบขาวพร้อมแล้วสำหรับสงครามการค้าระลอกใหม่กับจีน ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเลยหวาดผวากันทั่วหน้า ทำท่าจะไปต่อไม่ไหว ดัชนีดาวโจนส์เลยย่อตัวกลับมาใต้ 26,000 จุด และแนสแด็กลงมาใต้ 8,000 จุดอีกครั้ง

ความล้มเหลวที่จะใช้โมเดลที่เคยบังคับเม็กซิโกให้ทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีแทนที่ข้อตกลงพหุภาคี NAFTA ของเดิมกับแคนาดา เพราะนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ยืนยันว่า แคนาดาจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ ทำให้ตัวแทนเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการเจรจาครั้งใหม่ในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุไว้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น

ทางด้านทรัมป์ ยังคงยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่า ไม่มีความจำเป็นทางการเมืองที่จะให้แคนาดาอยู่ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ ถ้าไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ หลังจากที่ถูกเอาเปรียบมานานหลายสิบปี

ท่าทีของทรัมป์ มีตัวเลขสนับสนุนไม่เลว เพราะล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 9.5% สู่ระดับ 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังจากอยู่ที่ระดับ 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ การพุ่งขึ้น 9.5% ของตัวเลขขาดดุลการค้า ยังถือเป็นการทะยานขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือน นับตั้งแต่ปี 2558 โดยมีสาเหตุจากการลดลงของการส่งออกถั่วเหลืองและเครื่องบิน ขณะที่การนำเข้าพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ที่สำคัญ หากลงลึกเพิ่มเติม ตัวเลขสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อจีนพุ่งขึ้น 10% สู่ระดับ 3.68 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ขาดดุลการค้าต่อเม็กซิโกลดลง 25.3% สู่ระดับ 5.5 พันล้านดอลลาร์ และขาดดุลต่อสหภาพยุโรปพุ่งขึ้น 50% สู่ระดับ 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ขาดดุลต่อแคนาดาเพิ่มขึ้น 57.6% สู่ระดับ 3.1 พันล้านดอลลาร์

หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ารวม เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.25 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยที่การนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 0.9% สู่ระดับ 2.612 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำโดยการนำเข้าน้ำมันดิบ และรถยนต์ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการลดลง 1.0% สู่ระดับ 2.111 แสนล้านดอลลาร์

ตัวเลขการค้าโดยลำพัง เสริมความชอบธรรมทำเนียบขาวในการเตรียมทำสงครามการค้ารอบใหม่กับจีนในสัปดาห์นี้ โดยแหล่งข่าวอ้างว่า ทรัมป์กล่าวกับคนสนิทว่า เขาจะทำการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าของจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ทันทีที่มาตรการดังกล่าวได้ข้อสรุปจากการทำประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ หลังจากที่การเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนในวันที่ 22-23 ส.ค.ได้สิ้นสุดลง โดยไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันไปแล้ว คิดเป็นวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์

การทำสงครามการค้าอาจจะสะใจขาเชียร์ทรัมป์อย่างมาก แต่เป็นความสุ่มเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดผลพวงด้านกลับ เนื่องจากในช่วงหลายทศวรรษมานี้ สหรัฐฯ เลือกยุทธศาสตร์ขาดดุลการค้าเรื้อรัง แต่ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินมาโดยตลอด เพราะผลกระทบของการขาดดุลการค้ามีสัดส่วนต่ำเกินไปในโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ระดับชั้นของการพัฒนาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคภายในประเทศมากกว่าพึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่บรรดาตัวเลขคำนวณดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของอเมริกา ที่ขับเคลื่อนให้จีดีพีปัจจุบันที่ระดับ 19.5 ล้านล้านดอลลาร์ (มากกว่าประเทศไทยเกิน 40 เท่า) ไม่เคยให้ความสำคัญกับตัวเลขการเกินหรือขาดดุลการค้า เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก

ดุลการค้าที่ขาดดุลเรื้อรังของสหรัฐฯ นอกจากไม่มีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับดัชนีทางด้านที่สำคัญเกี่ยวกับการบริโภคภายใน เพราะดัชนีอ้างอิงที่มีผลต่อการคำนวณหรือส่งสัญญาณต่อตลาดหุ้น เช่น ตัวเลขการจ้างงาน-ว่างงานนอกภาคการเกษตร, ตัวเลข PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ), อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลาง, ตัวเลขการซื้อ-ขายบ้าน ฯลฯ

ภายใต้หลักเศรษฐศาสตร์ ประเทศที่เน้นการบริโภคภายใน ต้องผลิตหรือนำเข้าสินค้าจำเป็นที่ประชาชนต้องการตามคุณภาพและราคาที่ “สมเหตุสมผล” ด้วย เพราะยิ่งขาดดุลการค้า ต้องนำเข้าสินค้าจากชาติอื่น ๆ เข้ามามาก ยิ่งช่วยลดแรงกดดันของเงินเฟ้อได้ดีมาก

คนอเมริกันที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงมากจนชาชิน (กำลังซื้อจากคน 300 ล้านคน ในประเทศที่คนจนยังถือว่ามีเหลือเฟือเทียบกับคนในชาติอื่น ๆ) มีค่าแรงขั้นต่ำสุดตามกฎหมายชั่วโมงละประมาณ 19 ดอลลาร์ หากไม่ใช้สินค้าจากฐานผลิต (บางส่วนโดยบริษัทอเมริกันเอง ทั้งลงทุนเองหรือร่วมทุน) จากต่างชาติที่มีต้นทุนค่าแรงและอื่น ๆ ต่ำกว่า เงินเฟ้อคงจะไม่ต่ำเตี้ยที่แถวระดับใต้ 2.0% เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องได้อย่างที่ปรากฏ

ที่ผ่านมาตลอด 4 ทศวรรษ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อเนื่อง แต่ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินตลอด เพราะสินค้าหลักที่ส่งออกจากสหรัฐฯ คือ “ทุน” ที่ไร้ต้นทุน (เนื่องจากเฟดสามารถพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาได้ตามปรารถนาโดยไม่มีทองคำหนุนหลัง และไม่ต้องกลัวดอลลาร์เสื่อมค่า เพราะมีข้อตกลงกับโอเปกให้ซื้อขายน้ำมันทั่วโลกด้วยดอลลาร์) ยังผลให้ค่าดอลลาร์สูงเกินจริงประมาณ 30% เสมอมา แม้ตอนที่ร่วงต่ำสุดในบางช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ

ค่าดอลลาร์ที่แข็งทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าเรื้อรัง มีความสำคัญต่ำมากในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ มาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา เพราะว่าการขาดดุลไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง เนื่องจากตัวแปรสำคัญอยู่ที่ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งระยะหลังเริ่มมีแรงกดดันมากขึ้น เนื่องจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และทุนสำรองระหว่างประเทศเหือดแห้งลงจนอันดับโลกรูดลงรุนแรงทุกปี

คำว่าสหรัฐฯ “ถูกเอาเปรียบ” เป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่จริง แต่ถูกใจ ​เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ เจตนาให้ขาดดุลการค้าตามยุทธศาสตร์จนเป็นปกติอยู่แล้ว

การยกเอาเรื่องแก้ไขดุลการค้ามาเป็นประเด็นนโยบายของทรัมป์ ซึ่งถือว่าย้อนศรยุทธศาสตร์เดิมของสหรัฐฯ ชนิดกลับขั้ว มีแนวโน้มสร้างสงครามการค้ายาวนาน อาจจะถูกใจพวก “ฮาร์ดคอร์” อเมริกันที่ขาดมุมมองอย่างบูรณาการ ถ้าหากสามารถบรรลุผลจริง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และกำไรจากเงินลงทุนบริษัทข้ามชาติอเมริกันในชาติคู่ค้าที่จะลดลง จะสะท้อนผลพวงของการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ “ขาดดุลการค้า แต่เกินดุลชำระเงิน และดอลลาร์แข็ง” ในยามนี้ได้

การถลำลึกจากการเปิดสงครามการค้า ที่เป็นมายากลของทรัมป์ จึงเข้าข่ายการทำลายตัวเองในระยะยาว แม้จะได้ผลบวกแค่ระยะสั้น ๆ

Back to top button