HANA ครึ่งปีหลังช่วงโอกาสทอง

ครึ่งหลังปี 2561 ยังเป็นช่วงโอกาสทองของ HANA ด้วยปัจจัยบวก ได้แก่ 1.จากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจากช่วงต้นปี 2.อุปสงค์ของกลุ่มสื่อสารที่แข็งแกร่ง 3.ได้งานผลิตชิ้นส่วนเซ็นเซอร์ที่มีอัตรากำไรสูง และ 4.ความประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนในการดำเนินงานของโรงงานในลำพูนที่ลดลง


คุณค่าบริษัท

ครึ่งหลังปี 2561 ยังเป็นช่วงโอกาสทองของ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ด้วยปัจจัยบวก ได้แก่ 1.จากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจากช่วงต้นปี 2.อุปสงค์ของกลุ่มสื่อสารที่แข็งแกร่ง 3.ได้งานผลิตชิ้นส่วนเซ็นเซอร์ที่มีอัตรากำไรสูง และ 4.ความประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนในการดำเนินงานของโรงงานในลำพูนที่ลดลง

สิ่งสำคัญ แม้ว่ายอดขาย smartphone โลกจะลดลง แต่ทาง HANA ยังได้ประโยชน์จากการเติบโตของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนในจีน เนื่องจากสมาร์ตโฟนแบรนด์จีนได้รับความนิยมมากในตลาดเกิดใหม่และมีขนาดใหญ่อย่างจีน และอินเดีย

นอกจากนี้ HANA เห็นอุปสงค์ที่ดีขึ้นของ Assembly Services ที่โรงงานเกาะกง กัมพูชา หลังมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจะมีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนใน Control Devices ของเล่น และเครื่องอ่านการ์ด เข้ามาเพิ่ม ซึ่งโรงงานที่เกาะกงใช้กำลังการผลิตเพียง 10% ในไตรมาส 2 ปี 2561 และยังขาดทุน บริษัทมีแผนย้ายสายการผลิตจากลำปางไปเกาะกงภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มการผลิตที่โรงงานดังกล่าว และจะสามารถพลิกเป็นกำไรได้ในปี 2562

ทั้งนี้ทางนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้และอัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2561 หากไม่มีผลลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่อุปสงค์ของโรงงานผลิตนอกจีนได้ปัจจัยบวก

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาเล็กน้อย 5,579.31 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 5,459.22 ล้านบาท จากรายได้การขายเพิ่มขึ้น แต่บริษัทมีกำไรลดลงเหลือ 270.08 ล้านบาท หรือ 0.34 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 675.56 ล้านบาท เนื่องจากมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามา

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,914.72 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 10,985.42 ล้านบาท ส่วนทางกำไรลดลงเหลือ 823.52 ล้านบาท หรือ 1.02 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,493.15 ล้านบาท หรือ 1.86 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ฐานะทางการเงินเพื่อเป็นตัวแปรในการตัดสินใจต่อการลงทุน พบว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง เพราะบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 18,007.42 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 3,721.39 ล้านบาท ได้ค่า CURRENT RATIO อยู่ที่ระดับ 4.39 เท่า แสดงว่า สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทมากเกินความจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

ส่วนปัญหาหนี้สินของบริษัทไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทมีหนี้สินรวมแค่ 4,066.91 ล้านบาท เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นมากถึง 20,705.15 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 0.20 เท่า แสดงว่า บริษัทแทบไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สินเลยก็ว่าได้

ในขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาพื้นฐาน 43.50 บาท อิงกับ P/E ปี 2562 ที่ 15 เท่า ที่สำคัญ HANA มีจุดเด่น คือ อุปสงค์ที่แข็งแกร่งทำให้รายได้เติบโตได้, ฐานะการเงินแข็งแกร่ง เป็นเงินสดสุทธิ และจ่ายปันผลสูง คาด Dividend ปีนี้ 2.00 บาท/หุ้น คิดเป็น Yield 5%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. OMAC (HK) LIMITED 172,480,000 หุ้น 21.43%
  2. RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED 85,191,900 หุ้น 10.58%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 79,318,468 หุ้น 9.85%
  4. บริษัท โอแมค จำกัด 40,939,360 หุ้น 5.09%
  5. RAINBOW JOY LIMITED 40,000,000 หุ้น 4.97%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายจอห์น ทอมพ์สัน ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ, ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
  2. นายริชาร์ด เดวิด ฮัน กรรมการ
  3. นายวินสัน มุง ชู ฮุย กรรมการ
  4. นายเทอร์เรนซ ฟิลิป เวียร์ กรรมการ
  5. นางสลักจิตต์ ปรีดาภรณ์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button