KTAM จ่ายปันผล KT-PIF-D อัตรา 0.30 บ./หน่วย

KTAM จ่ายปันผล KT-PIF-D อัตรา 0.30 บ./หน่วย


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดกรุงไทย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล ( KT-PIF-D ) อัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย ในวันที่ 16 ตุลาคม 2561 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 – 30 เมษายน 2562 จากผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2561

โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉลี่ยในรอบบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยกองทุนจัดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2559 มีการจ่ายเงินปันผลแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 1.00 บาทต่อหน่วย

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง ณ วันที่ 28 กันยายน 2561 YTD (3ม.ค.-28ก.ย.61) อยู่ที่ 9.71% 6 เดือนอยู่ที่ 7.32% และ1 ปี อยู่ที่ 13.44% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน( Benchmark ) YTD อยู่ที่ 4.71% 6 เดือนอยู่ที่ 6.82% และ1 ปี อยู่ที่ 7.41%

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 204( KTFF204) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2561 อายุโครงการ 12 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

โดยประกอบไปด้วย เงินฝากประจำของAgricultural Bank of China , Bank of China , China Construction Bank Asia , AL Khalij Commercial Bank , Commercial Bank PQSC บัตรเงินฝาก Industrial and Commercial Bank of China , China Merchanyts Bank , และ MTN ของMashreq Bank โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.80% ต่อปี โดยบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน US Treasury โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิจำนวน 15,370 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps. มาอยู่ที่ 1.96% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 bps.มาอยู่ที่ 2.41% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 bps. มาอยู่ที่ 2.87% ต่อปี

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ตามแรงขายหลังอัตราการว่างงานเดือนกันยายนอยู่ในระดับ 3.7% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1969 ในขณะที่ก่อนหน้านั้นประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่แข็งแกร่งเกินคาด การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

รวมถึงการที่ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps. มาอยู่ที่ 2.88% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13 bps. มาอยู่ที่ 3.07% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18 bps. มาอยู่ที่ 3.23% ต่อปี

Back to top button