3 นิยามตลาดยามนี้

ดัชนี SET เมื่อวันศุกร์หลุดแนวรับสำคัญ 1,670 จุดลงมาปิดที่ 1,667 จุด พร้อมกับมีคำถามว่าสัปดาห์นี้ ดัชนี SET จะมีรีบาวด์เพื่อพลิกกลับเป็นขาขึ้นหรือไม่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนี SET เมื่อวันศุกร์หลุดแนวรับสำคัญ 1,670 จุดลงมาปิดที่ 1,667 จุด พร้อมกับมีคำถามว่าสัปดาห์นี้ ดัชนี SET จะมีรีบาวด์เพื่อพลิกกลับเป็นขาขึ้นหรือไม่

ก่อนจะมีข้อสรุปที่ถูกต้อง ควรพิจารณาองค์ประกอบยามนี้ให้ชัดเจน เพื่อประเมินว่าโอกาสของตลาดเป็นขาขึ้นหรือขาลงกันแน่

โดยพื้นฐาน ตลาดหุ้นไทยล่าสุดมีค่าพี/อีที่ 16.5 เท่า ถือว่ายังสูงกว่าหลายตลาดในอาเซียน แต่สูงกว่าตลาดจีนและฮ่องกง แล้วยังต่ำกว่าดัชนีตลาดในนิวยอร์ก ดังนั้นจึงมีโอกาสได้ทั้งขึ้นและลง ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าควรจะต้องลงหรือขึ้น

เพียงแต่ภาวะโดยรวมของตลาดที่ไม่เอื้อให้ตลาดเป็นขาขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายด้าน เช่น 1) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ยากจะเลี่ยงพ้น ช้าหรือเร็วแค่นั้น 2) ความสุ่มเสี่ยงของชาติกำลังพัฒนาหลายแห่ง ที่ใกล้ตัวสุดคือ อินโดนีเซีย ทำให้เงินฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เป็นกระแสหลัก 3) ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ 4) ผลกระทบทางลบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน 5) แรงขายหนักจนถึงล่าสุดของฟันด์โฟลว์ที่มากสุดในรอบ 5 ปีในตลาดหุ้นไทย 6) แนวโน้มผลประกอบการหุ้นธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงชัดเจนในปลายปีนี้ 7) ทิศทางระหกระเหินของการเมืองไทยที่ยังตกในวังวนความขัดแย้งระหวางแนวร่วมเผด็จการ กับแนวร่วมประชาธิปไตย

ใน 7 ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น นอกเหนือจากคำถามนำว่า เรื่องไหนสำคัญสุด ตามลำดับความสำคัญและผลกระทบแล้ว ยังโน้มนำไปสู่ประเด็นที่ว่า แล้วอย่างนี้ ทิศทางของดัชนี SET จะเป็นเช่นใด

สำหรับผมแล้ว มีคำตอบหยาบดังนี้

สถานการณ์ตลาดยามนี้ เข้าข่ายทางเทคนิคที่เรียกว่า การถอยหลังกลับ (Pull Back) หรือ การวกกลับเป็นขาลง (Downward Reversal) ชัดเจน (ดูกราฟประกอบ) การถอยหลังกลับนี้ เป็นนิยามกว้างและหยาบสำหรับอธิบายการพักฐาน หรือการปรับลดความร้อนแรงของตลาด จนกระทั่งการปรับฐานใหญ่ที่ไม่รวมถึงการแกว่งตัวในช่วงวันหรือระหว่างวันในสัปดาห์ โดยใช้ในกรณีที่ราคาหุ้นหรือดัชนีหลักแกว่งตัวในทิศทางลงเร็วจากยอดสูงสุดของรอบขาขึ้นล่าสุด แล้วไม่สามารถผ่านข้ามแนวต้านสำคัญได้ ภาวะดังกล่าวถือเป็นสัญญาณการพักช่วงขาขึ้นชั่วคราวของตลาด แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะเป็นขาลงในระยะต่อไป

ในบางกรณี เราจะเห็นนักวิเคราะห์ทางเทคนิคออกคำชี้แนะให้ซื้อ เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งที่ความเสี่ยงขาลงต่ำลง แต่หลายครั้งก็เป็นคำชี้แนะที่ผิดพลาดได้ จากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้แทรกเข้ามา เช่นมีข่าวร้ายแทรก หรือมีมติบอร์ดที่ผิดคาดหมายทางลบขึ้น

วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าการถอยกลับ หรือการวกกลับขาลงจบสิ้นแล้วคือ หากราคาหรือดัชนีหลุดมาใต้เส้นสนับสนุน (หรือเส้นกรอบล่างสุดของ bollinger bands) เพียงแต่ต้องระวังสัญญาณลวง เพราะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสัญญาณสำคัญกว่าเรื่องการวกกลับทิศสวนทาง หรือสัญญาณรีเวอร์เซิล (Reversal Signaling)

สัญญาณรีบาวด์ ของตลาดระยะสั้นเกิดขึ้นอย่างเปราะบาง เมื่อแรงขายที่ทำให้กราฟตกลงไปเริ่มหมดลง (สังเกตจากมูลค่าซื้อขายหุ้นบลูชิพ หรือหุ้นใน SET50 กราฟทางเทคนิคจะทำสัญญาณวกกลับสวนทาง หรือรีเวอร์เซิล เป็นคลื่นรีบาวด์อาจจะเป็นระลอกเดียวหรือหลายระลอก เพื่อทดสอบแรงซื้อที่เข้ามากระทำ เพื่อหาราคาที่เหมาะสม หากราคาเหมาะสม กราฟก็จะสามารถยืนอยู่ได้ มีเครื่องหมายมอร์นิ่ง สตาร์ (เป็นรูปกากบาท (โดจิ) หรือค้อนหัวคว่ำสีแดง หรือค้อนหัวหงายสีเขียว) หากราคายังไม่เหมาะสม กราฟก็จะลงลึกต่อไป เพราะการเด้งขึ้นมานั้นเข้าข่าย “แมวตายเด้ง” (dead-cat bounce) ที่หาความยั่งยืนไม่ได้

สัญญาณกลับทิศสวนทาง โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดขึ้นเมื่อแนวโน้มที่เป็นขาลงได้รับการยืนยันชัดเจนจนแรงขายหมดแล้ว กราฟดัชนี หรือราคา มักจะนอนทำไซด์เวย์ หรือแกว่งตัวย่ำฐานในกรอบแคบอยู่ด้านล่าง รอสัญญาณของแรงซื้อระลอกใหม่เพื่อกลับตัวขึ้นด้านบน เป็นโมเมนตัมใหม่ที่ทำให้เกิดทิศทางราคาหรือแนวโน้มดัชนีรอบใหม่

โมเมนตัมของการวกกลับทิศสวนทางนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อเผชิญกับแนวต้านที่แข็งแกร่งจนเกิดแรงขายระลอกใหม่ขึ้น

ประเด็นที่ยากอยู่ตรงที่ปัจจัยที่จะทำให้นิยามทั้ง 3 ข้างต้นเกิดขึ้น มีความหลากหลายจนบางครั้งแยกออกยากว่าประเด็นใดสำคัญเฉพาะหน้ามากสุด

คำตอบชี้ขาดอยู่ที่ความเก๋าของนักลงทุนแต่ละคนเป็นสำคัญ

แน่นอนว่า ในระยะเฉพาะหน้า การขายสุทธิในหุ้นของฟันด์โฟลว์ตลอดปีนี้จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมามากถึง 2.58 แสนล้าน (เฉพาะวันศุกร์วันเดียวมากถึง 6.1 พันล้านบาท) ทำให้มีความจำเป็นต้องค้นหาว่า กองทุนเก็งกำไรข้ามชาติมีมุมมองต่อตลาดและราคาหุ้นของไทยอย่างไรจึงได้ขายชนิด “ทิ้งไม่เหลือเยื่อใย”

แล้วต้องค้นหาเพิ่มเติมว่า ปัจจัยลบอะไรระหว่าง 1) การเมืองที่ยังไร้เสถียรภาพเพราะการต่อสู้ระหว่างแนวร่วม 2 ฝั่งยังยากจะมีข้อยุติเชิงสร้างสรรค์อีกยาวนาน 2) ความไร้ประสิทธิผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพราะหมกมุ่นกับ “การไล่ล่าทักษิณและพวก” โดยไม่ใส่ใจต้นทุน 3) สงครามการค้าที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตไทย 4) ความสามารถทำกำไรของบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยดีเกินคาด ตามคาด หรือต่ำกว่าคาด

ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ยังมีลักษณะ “ตาบอดคลำช้าง” อย่างมะงุมมะงาหราไปเรื่อย คำนิยามว่าด้วยการถอยหลังกลับ อาจจะครอบงำตลาดหุ้นไปอีกยาว

ส่วนจะยาวถึงแนวรับเก่า 1,580 จุดหรือไม่ ก็น่าคิดเช่นกัน

Back to top button