ก.ล.ต.แบนมาร์เก็ตติ้ง “บล.อาร์เอชบี” นานกว่า 6 ปี ปมตุ๋นเงินลูกค้าซื้อหุ้น IPO

ก.ล.ต.แบนมาร์เก็ตติ้ง "บล.อาร์เอชบี" นานกว่า 6 ปี ปมตุ๋นเงินลูกค้าซื้อหุ้น IPO


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ราย นางสาวปัญจภัทร  สุขโข ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฐานกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน

โดย ก.ล.ต. ได้รับรายงานการตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล. อาร์เอชบี เกี่ยวกับพฤติกรรมของนางสาวปัญจภัทร ขณะสังกัด บล. อาร์เอชบี ที่ได้ชักชวนลูกค้ารายหนึ่งซื้อหุ้น IPO ก.ล.ต. จึงตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นางสาวปัญจภัทรได้ชักชวนให้ลูกค้าซื้อหุ้น IPO และให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวจำนวนกว่า 5.49 แสนบาท เพื่อชำระค่าซื้อหุ้น IPO และทำสัญญาขายหุ้นกับลูกค้าจำนวน 3 ฉบับ

โดยอ้างว่าจะคืนเงินค่าขายหุ้นดังกล่าวให้ลูกค้าภายหลังที่หุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ปรากฏว่านางสาวปัญจภัทรไม่ได้ซื้อหุ้นตามข้อตกลง แต่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงและสร้างหลักฐานว่าเป็นการขายหุ้น IPO เพื่อให้ลูกค้าหลงเชื่อว่า ผู้แนะนำมีหุ้นอยู่จริง รวมทั้งสร้างหลักฐานว่าเป็นการกู้ยืมเงินจากลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้การกระทำของนางสาวปัญจภัทรข้างต้น เป็นการกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน*  ก.ล.ต. จึงสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของนางสาวปัญจภัทร เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจาก บล.อาร์เอชบี ได้ลงโทษนางสาวปัญจภัทร โดยพักการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว 15 วัน ดังนั้น จึงเหลือกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของนางสาวปัญจภัทร เป็นเวลา 6 ปี 7 เดือน 15 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2561

สำหรับที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเรื่องการชักชวนให้ลงทุนในหุ้น IPO ผ่านผู้แนะนำการลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์หลายกรณีและได้ลงโทษไปแล้วหลายราย  ดังนั้น ก.ล.ต. ขอเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการชักชวนซื้อหุ้น IPO โดยให้ตรวจสอบก่อนว่าหุ้นที่นำมาชักชวนมีการยื่นขอเสนอขายกับ ก.ล.ต. หรือเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่

โดยอาจสอบถามจากบริษัทหลักทรัพย์ต้นสังกัดของผู้แนะนำการลงทุนโดยตรง หรือสอบถามจาก ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ  นอกจากนี้ ผู้ลงทุนไม่ควรโอนเงินของตนให้ผู้แนะนำการลงทุนโดยตรง เพราะอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตเงินของผู้ลงทุนได้

Back to top button