EXIM BANK ขยายความร่วมมือสนง. พัฒนาส่งออกไทย-แคนาดา

EXIM BANK ขยายความร่วมมือสนง. พัฒนาส่งออกไทย-แคนาดา


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับนายวิลเลียมส์ บราวน์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย สำนักงานพัฒนาการส่งออกของแคนาดา (Export Development Canada : EDC) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-แคนาดา และการค้าการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศ การสนับสนุนและแนะนำโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจทั้งด้านเทคนิค การเงิน และการค้า และการพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากร

ทั้งนี้ EDC เป็นต้นแบบองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency) ชั้นนำของโลกที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SMEs โดยไม่ต้องรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐของแคนาดา รวมทั้งมีการพัฒนาบริการประกันการส่งออกที่ทันสมัย โดย EDC เล็งเห็นโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการแคนาดาในภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่ EXIM BANK ต้องการสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยขยายตลาดไปแคนาดาเพิ่มมากขึ้น โดยเล็งเห็นว่าแคนาดาเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนมาก ซึ่งไทยเป็นประเทศฐานการผลิตที่มีเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยีภาคการผลิต ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนไทย-แคนาดาจึงเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ อากาศยาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีชีวภาพ ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น R&D การจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters : ROH) และโลจิสติกส์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงอาเซียนโดยรวม ตลอดจนจะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทย

โดยแคนาดาเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและมีประชากรเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้านวัตกรรม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากแคนาดา ได้แก่ เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

ทั้งนี้จากมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2561 ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ รวมถึงมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดย 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดโลกที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาทิ สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนของตลาดการเงิน ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับผลกระทบและผิดนัดการชำระค่าสินค้า

ด้วยสาเหตุทางการค้าหรือการเมือง ทำให้ผู้ส่งออกไทยจำนวนมากมีความกังวลในการทำการค้าระหว่างประเทศ EXIM BANK จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจ (EXIM IBD GLOBAL) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออกเพื่อผู้ส่งออก SMEs วงเงินสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย อัตรารับซื้อลด Prime Rate -2.00% ต่อปี ตลอดอายุโครงการ พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า Forward Contract สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนใช้เพียงกรมธรรม์ประกันการส่งออกเป็นหลักประกัน และบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกัน

โดยผู้กู้ต้องได้รับการอนุมัติกรมธรรม์ บริการประกันการส่งออกสำหรับสินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจ (EXIM IBD GLOBAL INSURANCE) บริการนี้สำหรับผู้ส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ส่งออกภายใต้เทอมการชำระเงินสูงสุดไม่เกิน 120 วัน และให้ความคุ้มครองมากกว่า 137 ประเทศทั่วโลก โดยมีระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการวิเคราะห์ผู้ซื้อฟรีจำนวน 2 ราย ได้รับเงินคืน (Rebate) ดอกเบี้ยรับซื้อลดเพิ่มอีก 0.25% ในกรณีที่ผู้ประกอบการชักชวนผู้ซื้อที่ผู้ส่งออกนำมาทำประกันการส่งออกให้โอนเงินชำระค่าสินค้าจากต่างประเทศมายัง EXIM BANK โดยตรง และส่วนลดค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บ (Collection Fee) ในอัตรา 50% สำหรับเงื่อนไขการชำระเงินแบบ D/P, D/A

“EXIM BANK พัฒนาบริการในครั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ SMEs ที่อาจจะมีฐานทุนจำกัด โดยการเสริมสภาพคล่อง ผนวกกับการคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ซื้อ และประเทศผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยบุกตลาดได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า หรือเสียรายได้เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายความร่วมมือกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทย” นายพิศิษฐ์กล่าว

 

Back to top button