ค่าโง่ซ้ำซาก

เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” กวาดยอดผู้เข้าชมล่าสุดไปถึง 23 ล้านวิวเข้าไปแล้ว เป็นเพลงของคนรุ่นใหม่ที่มีเนื้อหาสะท้อนความอึดอัดภายใต้ระบอบการปกครองเผด็จการและการปกครองแบบศรีธนญชัย ภายใต้ผู้ปกครองที่ชอบยกย่องตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” กวาดยอดผู้เข้าชมล่าสุดไปถึง 23 ล้านวิวเข้าไปแล้ว เป็นเพลงของคนรุ่นใหม่ที่มีเนื้อหาสะท้อนความอึดอัดภายใต้ระบอบการปกครองเผด็จการและการปกครองแบบศรีธนญชัย ภายใต้ผู้ปกครองที่ชอบยกย่องตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม

ไม่ว่าจะผิดถูกอย่างไร ชอบหรือชังเผด็จการ ชื่นชมประชาธิปไตยหรือไม่ชื่นชม แต่ประเทศนี้ก็ต้องยอมรับว่า มีคนติดตามเพลงเสียดสีเผด็จการกว่า 20 ล้านวิวเข้าไปแล้ว ในช่วงเวลาเผยแพร่เพียงแค่ 10 วัน

คงต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้โดยยอมรับในความแตกต่างทางความคิด มิเช่นนั้นก็ต้องประหัตประหารกันสถานเดียว กลายเป็นสังคมที่แบ่งสีแบ่งเหล่า ไร้ความสุขมา 12-13 ปีแล้ว

ในทางการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ขอเวลาอีกไม่นานจนเวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้ว ก็ปรากฏว่า แทบจะไม่เห็นผลงานปฏิรูปใด ๆ เลย นอกจากการโยกย้ายข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นกันเป็นเบือ บางหน่วยงานก็น่าเป็นห่วงที่มีคดีความฟ้องร้องกับเอกชนอีนุงตุงนัง แล้วเป็นฝ่ายแพ้คดีต้องชดใช้ค่าเสียหายเสียด้วย

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือกทพ. คือหน่วยงานนั้น ล่าสุดอนุญาโตตุลาการอันประกอบไปด้วยคู่กรณีและคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ตัดสินให้การทางฯ แพ้คดีต่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM กรณีไม่ยอมให้มีการปรับราคาค่าทางด่วนสายเฉลิมมหานคร-ศรีรัช ซึ่งจะต้องปรับทุก 5 ปีตามสัญญา

เป็นเหตุให้เอกชนเสียประโยชน์ ต้องชดใช้ในส่วนต่างรายได้ เป็นจำนวนเงินต้นทั้งสิ้น 9,091 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 7,909 ล้านบาท คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ 17,000 ล้านบาท

นี่ก็เป็นเงินไม่ใช่น้อยเลยนะครับ หากจะต้องควักเงินสดออกไปจ่าย กระแสเงินสดหมดหน้าตักแน่ ฐานะและสภาพของการทางพิเศษฯ จะเหลืออะไร

ในทางคดี กทพ.ยังสามารถต่อสู้ต่อได้ โดยขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตฯ ภายใน 90 วัน แต่ก็น่าหวาดเสียว เพราะก่อนหน้านี้ กทพ.ก็ถูกศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ชดใช้เอกชนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาแล้ว

คดีนั้น เพิ่งตัดสินกันเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ก่อนหน้านี้เพียงเดือนเศษเอง กรณีศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ กทพ.ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ NECL อันเป็นบริษัทย่อยของ BEM ในข้อพิพาทเรื่อง “ราคาค่าผ่านทาง” ช่วงทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่แตกต่างกัน

อันเป็นเหตุให้เอกชนได้รับรายได้ที่ลดลง กทพ.ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินต้น 1,840 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 3,350 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท

เจอ 2 รายการนี้เข้าไปกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท กทพ.หมดเนื้อหมดตัวแน่ ทางออกก็เหลืออยู่จำกัดจำเขี่ย หนึ่ง.ไปสู้ต่อที่ศาลปกครองก็คงลำบากอีก เพราะมีบรรทัดฐานคำตัดสินไว้แล้วจากกรณีทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด

ก็เหลืออีกทางหนึ่งคือการเจรจา ซึ่งแนวทางที่ใช้กันส่วนใหญ่ก็คือ การยืดอายุสัมปทานทางด่วน แต่ก็แน่ละการทางฯ ก็ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง จากการที่ทางด่วนจะกลับคืนมาเป็นของรัฐ ที่รับรายได้ค่าผ่านทางเต็ม ๆ ก็ต้องมาแบ่งผลประโยชน์ให้บริษัท BEM ซึ่งผลแห่งคดีบริษัท BEM ในเครือ ช.การช่าง ก็คงจะยืนยงค้ำฟ้าเป็น “เจ้าพ่อทางด่วน” ไปอีกนาน

กรณี กทพ.เจอมรสุมคดี “ค่าโง่ทางด่วน” ซ้ำซาก เป็นอุทาหรณ์ให้จดจำจริง ๆ ที่ไม่รักษาสัญญาข้อตกลงที่ทำไว้กับเอกชนจนกระทั่งเปิดช่องให้เอกชนฟ้องร้อง และก็ต้องแพ้คดีแบบหมดทางสู้

ทราบว่ายังมีอีก 8 คดีที่ กทพ.เป็นจำเลยอยู่อีก ความเสียหายคงไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทกระมัง

Back to top button