ทางสวรรค์หลังเลือกตั้ง

ด่ากันยับ! รัฐบาลในแนวทางประชานิยม อันจะทำให้ฐานะการเงินการคลังแห่งรัฐอ่อนแอ และมอมเมาประชาชนให้มีนิสัยแบมือขอ จนถึงขั้นสั่งจำคุกนักการเมืองประชานิยมมาหลายรายแล้ว


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ด่ากันยับ! รัฐบาลในแนวทางประชานิยม อันจะทำให้ฐานะการเงินการคลังแห่งรัฐอ่อนแอ และมอมเมาประชาชนให้มีนิสัยแบมือขอ จนถึงขั้นสั่งจำคุกนักการเมืองประชานิยมมาหลายรายแล้ว

ใครจะนึกล่ะ! รัฐบาลทหารที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลประชานิยม จะลอกตำราเล่มเดียวกันมาใช้ หรือบางคนอย่างเช่น วีระ สมความคิด บอก ทำยิ่งเสียกว่าอีก”

โค้งสุดท้ายก่อนไปเลือกตั้ง รัฐบาลทหารก็ยังโปรยเงินใส่มือประชาชนสิริรวมแล้วกว่า 82,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินช่วยคนจนที่ขึ้นทะเบียนไว้ 14.5 ล้านคน ช่วยค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง รวมแล้ว 38,730 ล้านบาท ช่วยชาวสวนยาง 18,600 ล้านบาท และเงินเพิ่มเบี้ยหวัดบำนาญข้าราชการอีก 24,700 ล้านบาท

ก็แน่นอน ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ต้องออกมาอธิบายตามฟอร์มว่า ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่ออกมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐที่คิดมาตั้งนานแล้ว บังเอิญมาทำเอาตอนนี้

ครับ ผมก็รู้สึกว่ารัฐบาลทหารยุคปัจจุบัน ชักจะมีจริตจะก้านขึ้นทุกวัน และก็ชักจะ “ลับลวงพราง” โดยสมบูรณ์แบบเข้าไปทุกที ไม่เหมือนรัฐบาลทหารก่อน ๆ ที่มักจะพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา อ่านกันแบบชั้นเดียวเชิงเดียวได้

ถ้าไม่มีรัฐมนตรี 3 คน ซึ่งเป็นเด็กในเส้นสายรองนายกฯสมคิด จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐกันตั้งแต่ในทำเนียบฯ  และไม่มีนายกฯประยุทธ์ที่ไว้เชิงในเรื่องการเมือง แต่ก็แบะท่าพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ก็คงจะไม่มีคำครหาเรื่องรัฐบาลหาเสียงโค้งสุดท้าย อันเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นหรอก

บอกกันว่า จะปฏิรูปการเมืองให้ใสสะอาด แต่ที่ไหนได้ พรรคการเมืองอันหวังจะเป็นต้นแบบคือพรรคพลังประชารัฐ กลับกลายเป็นที่รวมของอดีตส.ส.เสือสิงห์กระทิงแรด ภายใต้การกวาดต้อนระดมพลของ “กลุ่ม 3 มิตร” และบรรดานักการเมืองที่เคยมีคดีความชนักปักหลังทั้งหลาย

แล้วการเมืองมันจะใสสะอาดกว่าเก่าได้อย่างไรกันล่ะ

ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ” แตกต่างกันตรงไหน? ก็ไม่เห็นจะแตกต่างอะไรกันเลย เท่าที่เห็นและเป็นจริง ก็มีแต่ “ประชานิยมแบบทหาร” กับ “ประชานิยมแบบพลเรือน” เท่านั้นแหละ และที่ยิ่งไปเสียกว่าก็คือ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” โปรยเงินจากฟ้ามาใส่มือประชาชนเลยนี่ล่ะ

มาตรการปราบโกง อาทิ รัฐธรรมนูญปราบโกง กฎหมายปราบโกง ดูไปแล้วก็เป็นเพียงแค่ “วาทกรรม” เพื่อโค่นล้มกันทางการเมืองมากกว่า เพราะจับจ้องปราบโกงแต่กลุ่มการเมืองกลุ่มเดียว ส่วนอีกกลุ่มกลับวางเฉย

ที่คลาสสิคที่สุดก็คือรายกรณี ประธานร่างรัฐธรรมนูญปราบโกง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้เป็นต้นแบบออกกฎหมายลูกปราบโกง แต่พอถึงทีกฎหมายปราบโกงจะย้อนมาใช้กับตัวเอง ก็รีบชิงเผ่นหนีลาออกจากตำแหน่งสภามหาวิทยาลัยไปเสียก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้

แต่กฎหมายพิษนั้นก็ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

ครับกว่า 4 ปีมานี้ ผมว่าคนไทยได้เห็นอะไรเป็น “ภาพจริง” อะไรเป็น “ภาพมายา” กันพอสมควรนะ คนที่เห็นภาพจริงนี่แหละ จะเป็นพลังสำคัญให้เกิดความสันติสุขภายหลังการเลือกตั้งได้

ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อแสดงเจตจำนงแท้จริงของมวลมหาประชาชนกันให้เยอะ ๆ สิครับ

ผมพอมองเห็นการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 เป็นสมมุติฐานต่าง ๆ ดังนี้นะครับ

กรณีแรก พรรคพลังประชารัฐของรัฐบาล มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เพราะมีเสียงส.ว. 250 คนหนุนเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งได้ส.ส.เข้ามาเกินครึ่งของจำนวนเต็ม 500 คน ก็จะเป็นรัฐบาลที่มั่นคงมาก

แต่ถ้าพลังประชารัฐได้ส.ส.เข้ามาน้อย ถึงแม้จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มั่นคง เพราะส.ว. 250 คนนั้นช่วยได้เฉพาะยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ไม่อาจเข้าไปช่วยเหลือได้ ถ้ารัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือร่างกฎหมายรัฐบาลไม่ผ่าน รัฐบาลก็จบเห่!

กรณีที่ 2 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะต้องรวบรวมเสียงถึง 376 เสียงขึ้นไป (ส.ส. 500+ส.ว. 250 คน) เป็นด่านแรก จากนั้นก็จะต้องคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้เกิน 251 คนให้ได้

กรณีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิด คือ พรรคเพื่อไทย พรรคตระกูลเพื่อ พรรคบริวาร และพรรคพันธมิตร จะต้องชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเท่านั้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ผมประเมินว่า คงไม่มีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มีอยู่ 2 ขั้วเท่านั้น คือพรรคที่สืบทอดอำนาจ กับพรรคที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ

โอกาสจะแพ้ชนะพอกัน แต่ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ผู้แพ้ก็ต้องยอมรับ โดยไม่ออกไปก่อชนวนเหตุรุนแรงให้ยึดอำนาจกันอีก ขอเตือนสติทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ

Back to top button