5G ดีแต่ปาก..!?

ตีฆ้องร้องป่าว! กันยกใหญ่กับของเล่นใหม่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีระบบ 5G ที่รัฐบาลปักธง “ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 5G ปี 2563” กันเลยทีเดียว


สำนักข่าวรัชดา

ตีฆ้องร้องป่าว! กันยกใหญ่กับของเล่นใหม่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีระบบ 5G ที่รัฐบาลปักธง “ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 5G ปี 2563” กันเลยทีเดียว

เริ่มจากรัฐมนตรีโลกลืม! “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ออกมาขายฝันผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นพื้นที่นำร่องปูพรมใช้ระบบ 5G เป็นพื้นที่แรก ด้วยการจัดตั้งโครงการนำร่อง ทั้งโครงการสถาบันไอโอที, โครงการเมืองอัจฉริยะ, โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G, โครงการมหาวิทยาลัยดิจิทัลวาย (Y) เพื่อพัฒนากำลังคนพื้นที่ EEC กำหนดเริ่มดำเนินการภายในเดือนนี้..!!!

ส่วน 2 ค่ายมือถือ AIS และ TrueMove อาศัยจังหวะทดลองระบบ 5G บนคลื่นความถี่ 26 GHz (26000 MHz) โดยค่าย AIS ใช้ชื่อว่า 5G The First Life Thailand by AIS ในห้างเอ็มโพเรียม ขณะที่ค่าย TrueMove ทดลองในห้างเอ็มควอเทียร์ มีการเคลมกันว่าเป็น Next generation networks ที่เชื่อมต่อทุกสิ่งด้วยความเร็วประดุจดั่งสายฟ้าแลบ ชนิดที่ว่าไม่ถึง 1 ใน 1,000 วินาที

แต่ 5G จะจี๊ดจ๊าด..สมค่าราคาคุยหรือไม่..!? เดี๋ยวคงได้รู้กัน..!?

ขณะที่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ออกมาให้ข้อมูลว่า หากมองย้อนไปปี 2554 ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ 3G อยู่ 1 ล้านเลขหมาย จากผู้ใช้มือถือ 77.4 ล้านเลขหมาย แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้  3G และ 4G อยู่ทั้งสิ้น 123.5 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้บริการมือถือทั้งหมด 125 ล้านเลขหมาย มีผู้ใช้บริการ 2G หลงเหลืออยู่เพียง 1.5 ล้านเลขหมาย บ่งชี้ให้เห็นความเป็น “เทคโนวิถี” อย่างชัดเจน!!

ดังนั้น..การเข้ามาของ 5G จึงเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ Landscape ครั้งใหญ่

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่ารัฐบาลและกสทช.ไม่มีความชัดเจนเลยว่า 5G จะเกิดภายใต้บริบทใด.!? เพราะหากยึดหลักการจัดสรรและบริหารคลื่นความถี่ ที่ กสทช.ยึดเป็นคัมภีร์อยู่ตอนนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะไม่มีผู้ประกอบการมือถือรายใดแบกรับภาระได้แน่ ด้วยการลงทุน 5G จำเป็นต้องใช้คลื่นจำนวนมากเพื่อวางโครงข่าย

โดยคลื่นชุดแรกที่สหภาพโทรคมนาคมตกลงนำมาใช้งาน 5G แล้ว ในย่านความถี่ 3.5 GHz และย่านความถี่ 28 GHz หากไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประมูล เห็นทียากจะเกิดขึ้นได้

กรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนคือรัฐบาลเกาหลีใต้ สั่งระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3.5 GHz และคลื่นความถี่ 28 GHz ที่เดิมกำหนดจะจัดประมูลช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยหันไปใช้รูปแบบการแบ่งคลื่นความถี่ให้ 3 ผู้ให้บริการรายใหญ่ นั่นคือ SK Telecom, KT และ LGU+ แทน แม้การจัดสรรคลื่นดังกล่าวยังใช้การประมูล แต่มีการกำหนดเพดานราคาเอาไว้ เพื่อไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการรายใด แบกภาระค่าคลื่นสูงจนเกินไป

กรณีประเทศไทย ปัญหาอาจไม่ใช่เรื่องตีโจทย์ไม่แตก..แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า “ตั้งโจทย์” กันได้

หรือยังเหอะ..!!??

..อิอิอิ..

Back to top button