เกมล้างบางที่กรุงไทย

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีต่ออดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 ท่าน ที่ได้รับการ “พักโทษ” กรณีปล่อยกู้บริษัทในกลุ่มกฤษฎามหานคร อันประกอบไปด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร, วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบอร์ดกรุงไทย


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีต่ออดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 ท่าน ที่ได้รับการ “พักโทษ” กรณีปล่อยกู้บริษัทในกลุ่มกฤษฎามหานคร อันประกอบไปด้วย.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร, วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบอร์ดกรุงไทย

คดีนี้ หากขึ้นศาลยุติธรรมตามปกติ ประชาชนทั่วไปจะเกิดความรู้สึกสบายใจมากกว่า แต่นี่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งเป็นศาลเดียว ตัดสินแล้วรู้ผลถึงที่สุดเลย ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกาได้ ก็เลยต้องทำใจ ในชั้นการพิจารณา ก็ยังมีบอร์ดบางคนที่ร่วมอนุมัติสินเชื่อก้อนนี้ ได้รับการกันตัวเป็นพยาน และกลายเป็นพยานปากเอกที่ระบุว่า “นายใหญ่” สั่งมา

“นายใหญ่” เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่มีการสืบสวนเอาความ แต่ก็เข้าใจกันในทางคดีว่าเป็น “นายใหญ่” คนนั้น

วันนี้ ธนาคารกรุงไทย ก็ยังไม่วายมีเรื่องใหญ่ กรณีการปล่อยสินเชื่อ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH ซึ่งกู้เงินเฉพาะธนาคารกรุงไทย ไป 12,000 ล้านบาท และออกหุ้นกู้ภายใต้การจัดการของธนาคารกรุงไทย รวม 2 ชุด เป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท

ผลการสอบสวน มีการชี้มูลว่า นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสินเชื่อรายใหญ่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กับพวก กระทำผิดฐานไม่รักษาผลประโยชน์ธนาคาร และปฏิบัติงานไม่สมกับหน้าที่ให้ลุล่วงไปอย่างถูกต้องและสุจริต รวมถึงใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองและบุคคลภายนอก

นับเป็นข้อหาที่ “รุนแรง” น่าดู! ซึ่งเจ้าตัวถึงกับระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงสำหรับตนเองและวิชาชีพที่ทำมา ส่วนนายวรภัค ธันยาวงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ รอด! แต่จะรอดอย่างไร ก็มีที่มาที่ไปเหมือนกัน โอกาสหน้าคงจะเล่าสู่กันฟัง

ผลสอบคราวนี้ ค่อนข้างจะไม่ปกติ สุ่มเสี่ยงจะมีลักษณะ “ลูบหน้าปะจมูก” หรืออาจจะมองเป็น “เกมล้างแค้น” หรือ “เกมล้างบาง” ในองค์กรก็ได้

ในประการแรกเลยก็คือ ตามกระบวนการปกติ จะมีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ขึ้นมา คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง คณะกรรมการวินัยและความรับผิดพนักงาน กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จก็ส่งต่อไปที่กรรมการวินัยฯ ซึ่งตามกฎระเบียบธนาคาร จะต้องเป็นอำนาจของบอร์ดใหญ่ คือบอร์ดธนาคารแต่งตั้ง

แต่ก็มีการแก้กฎระเบียบใหม่ให้สามารถแต่งตั้งโดยบอร์ดเล็กหรือบอร์ดบริหาร ซึ่งมี ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธานได้ และเป็นการแก้ระเบียบฯ ย้อนหลังถึง 5 เดือนเสียด้วย

ความผิดปกติในประการต่อมาก็อยู่ที่ “กรรมการชุดวินัยฯ” นี่แหละ ซึ่งปกติกรรมการก็จะมาจากผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ของธนาคาร อันเป็นงานรูทีนประจำอยู่แล้ว เช่นจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล และตัวแทนจากสหภาพรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แต่คราวนี้กลับเป็น “ซุปเปอร์ คอมมิตตี” ที่มีประธานไกรฤทธิ์ เข้ามานั่งแป้นประธานเสียเอง

ประธานบอร์ดบริหารของแบงก์ ไม่มีส่วนจะต้องรับผิดชอบในสินเชื่อที่มีปัญหาเลยหรือ การสอบสวนจะเป็นกลางและยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อเอาคนที่อาจมีส่วนได้เสียมาทำการตรวจสอบ

ในทางข้อเท็จจริง นายกิตติพันธ์ ก็ไม่ใช่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อแน่นอน นายกิตติพันธ์เป็นเพียงผู้นำข้อเสนอเท่านั้น แต่ผู้อนุมัติแท้จริงคือ ประธานบอร์ดบริหารธนาคาร นี่ไงถึงได้บอกว่า ส่อเป็นการขัดกันทางผลประโยชน์

ในประการที่ 2 สินเชื่อที่นายกิตติพันธ์ เสนออนุมัติไป 2 ก้อน รวมเป็นเงิน 4,500 ล้านบาท นั้น ก็ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบธนาคารทุกประการ ตั้งแต่สายงานประเมินความเสี่ยง คณะกรรมการกลั่นกรองความเสี่ยง ไปจนถึงการอนุมัติจากบอร์ดบริหาร

แล้วจะกล่าวหาว่าเป็นการทุจริตปกปิดและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่บอร์ดบริหารได้อย่างไร

ในประการที่ 3 อันนี้คือคลาสสิกมาก ภายหลังจากนายกิตติพันธ์และนายวรภัค ออกจากแบงก์ไปแล้ว ก็ยังมีการอนุมัติหุ้นกู้ 2 ชุด มูลค่า 5,500 ล้านบาท และมีประชาชนผู้ซื้อหุ้นกู้อยู่ 2,300 ราย…

ถามว่า ไม่มีวรภัค-กิตติพันธ์แล้ว ใครอนุมัติหุ้นกู้ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นอันเดอร์ไรเตอร์นี้หรือ หากไม่ใช่ประธานไกรฤทธิ์

เกณฑ์พิจารณาสินเชื่อระหว่างกิตติพันธ์-ไกรฤทธิ์ ดูไปแล้วก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก แต่ทำไมถึงจะห้ำหั่นกันเอาเป็นเอาตายเช่นนี้

ในประการที่ 4 สมัยท่าน รมว.คลังปัจจุบัน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ดำรงตำแหน่ง กจญ.กรุงไทย ก็มีเคสใหญ่ลูกค้าธนาคารที่มีปัญหาเป็นหนี้เสีย คือ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI และสหฟาร์ม ก็ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใด ๆ แม้แต่น้อย

แต่เคสนี้ กลับเล่นกันรุนแรงจะเป็นจะตาย ทั้งที่อนุมัติกันมาตามระบบระเบียบอย่างครบถ้วน

 ในประการที่ 5 จนบัดนี้แล้ว ก็ยังไม่มีบทสรุปการสอบสวนว่า “เอิร์ธ” ทุจริต แต่งออเดอร์ซื้อขายปลอม หรือตบแต่งบัญชีปลอมอย่างไรเลยนะ ในขณะเดียวกันก็ชักจะมีเสียงวิจารณ์มากขึ้นทุกทีว่า ความเสียหายของ “เอิร์ธ” เกิดจากการตัดสินเชื่อกะทันหันของแบงก์หรือเปล่า

ในประการสุดท้าย อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า จงระวังไว้ให้ดี “อย่าขว้างงู ไม่พ้นคอ”

การแก้ไขปัญหา “เอิร์ธ” นั้น ต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง

 

Back to top button