กับดักแห่งความสูญเปล่า

วานนี้ เรื่องของพรรคไทยรักษาชาติที่มีคนลุ้นกันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของ กกต.ในการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ ทำให้ดัชนีหุ้นไทย SET ชะลอตัวไม่อาจเดินหน้าเข้าแนวต้าน 1,660 จุดไปได้


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

วานนี้ เรื่องของพรรคไทยรักษาชาติที่มีคนลุ้นกันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของ กกต.ในการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ ทำให้ดัชนีหุ้นไทย SET ชะลอตัวไม่อาจเดินหน้าเข้าแนวต้าน 1,660 จุดไปได้

คำถามจากนี้ไป ไม่ใช่แค่ว่าพรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ความสามารถของกลุ่มพลังในสังคมไทยในการขจัดอคติจาก “อขันติธรรมทางความเชื่อ” ได้เร็วแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากกว่าในอนาคต

ในยุโรปกลาง ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อขันติธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิรูปศาสนาของนครรัฐในซากอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และเนเธอร์แลนด์ ทำให้เกิดสงคราม 30 ปี และสงคราม 80 ปี ตามลำดับ มีคนตายและสูญเสียมหาศาล จนกระทั่งคู่ขัดแย้งอ่อนล้า เกิดเป็นสนธิสัญญาสงบศึก “เวสฟาเรีย ค.ศ. 1648″ ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มของ “โลกยุคใหม่” เป็นทางการ

ผลพวงที่สำคัญของสนธิสัญญาเวสฟาเรีย มีมากมาย แต่ที่โดดเด่นคือ คนในยุโรปในรัฐโปรเตสแตนต์สามารถศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างเสรี และลดบทบาทของศาลศาสนาที่ถือว่าวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็น “ศาสตร์ต่อต้านพระคริสต์” ลง แล้วตามมาด้วยการเผยแพร่ปรัชญาใหม่ว่าด้วยสังคม โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง สัญญาประชาคม กับ การปกครองด้วยนิติธรรม (rule of law ที่แตกต่างจากการปกครองโดยกฎหมายหรือ rule by law)

บาดแผลจากอขันติธรรมทางความเชื่อ ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในคำขวัญว่าด้วยภราดรภาพ (brotherhood) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยของการปฏิวัติฝรั่งเศส “เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ” ก่อนที่อับราฮัม ลินคอล์น จะมาสรุปสุดยอดหลังจากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ที่มีเหตุจากการเลิกทาส ว่าประชาธิปไตยคือ การปกครองรัฐ “โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน”

ประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมาเกือบ 15 ปี ที่กลายเป็นสงครามสีเสื้อ และยุทธการปราบผีทักษิณอันยืดเยื้อ สะท้อนถึงอขันติธรรมทางความเชื่อที่ฝังลึก จนมีคำถามว่า การรัฐประหาร-การเลือกตั้ง จะมีประโยชน์อะไรกัน หากไม่สามารถนำสังคมก้าวข้ามสิ่งกีดขวางหลักคือ กับดักชาติรายได้ปานกลาง ที่ผสมผสานเข้ากับช่วงเวลาของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

คำว่า กับดักชาติรายได้เป็นกลาง ได้รับการนิยามหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ใช้เกณฑ์วัดสำคัญใหม่คือค่าเฉลี่ยวัดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ที่มีตัวชี้วัดหลายปัจจัย

จากผลการศึกษาโดยนักวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2553-2559 ค่าความสามารถในการแข่งขันของไทยเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูง ที่พบว่ามีหมวดที่ไทยได้คะแนนต่ำถึง 4 หมวด ซึ่งคะแนนประเมินในระดับต่ำของหมวดเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน และสื่อให้เห็นถึงอุปสรรคต่อการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น

เริ่มจาก 1) ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับปานกลาง 2) ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เพียงพอทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ 3) ความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่ดีนัก 4) ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับนวัตกรรมโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากค่าใช้จ่าย R&D ของไทยในปี 2558 ที่ระดับ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก

กับดักชาติรายได้ปานกลาง คือจุดที่ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อย มาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาค่อนข้างนานก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือว่าไต้หวัน ที่นำหน้าเรามานานแล้ว

เส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย ไม่ได้พิเศษพิสดาร เมื่อเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ จากการเป็นประเทศรายได้น้อย ที่สามารถแปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมด้วยการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมเบา (Light Industrial) ขึ้นมาก่อน เช่น การทอผ้า ฟอกหนัง เครื่องประดับ เป็นต้น แล้วค่อยพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต่อไปขึ้นมา

แม้ว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมหนักบางส่วน แต่ส่วนมากยังเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า มีส่วนน้อยที่สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สินค้าส่วนมากยังไม่มีนวัตกรรมมากนัก ทำให้ขายสินค้าได้ราคาไม่สูงนัก อำนาจการต่อรองขึ้นกับคู่ค้ารายใหญ่มากกว่า ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลงเพราะว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การไม่มีแบรนด์สินค้า กับนวัตกรรมที่มากพอ ทำให้เมื่อถูกเบียดขับ จากชื่อเสียงของแบรนด์ คุณภาพและนวัตกรรมของคู่แข่ง บวกกับแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และแทบไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรเลย แต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลอย่างในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดช่องให้บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทุ่มเพื่อแย่งตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยกันอย่างดุเดือด (Lazada, Shopee, 11 Street เป็นต้น)

ท่ามกลางพลวัตอันรุนแรงนี้ ยังถูกซ้ำเติมจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วก่อนกำหนด ต่างจากสังคมญี่ปุ่นมาก

นอกจากนั้นยังถูกถ่วงรั้งด้วยการศึกษา เพราะพบว่า การศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่อยู่เพียงระดับมัธยมต้น (ประมาณ 8 ปี ในปี 2559) ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่การศึกษาเฉลี่ยอยู่ระดับมัธยมปลายขึ้นไป ทำให้พัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปอย่างช้า ๆ จากพื้นฐานด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้ออำนวย

ท้ายที่สุด คะแนนด้านสถาบันในระดับต่ำ ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐและเสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง จึงส่งผลเพิ่มเติมให้การดึงดูดการลงทุนใหม่ของไทยทำได้ยากยิ่งขึ้น

บทสรุปที่น่าสนใจของงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560 ระบุว่า ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3.5% ตามค่าเฉลี่ยปี 2555–2559 พบว่าไทยจะต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางไปอีกกว่า 30 ปี โดยการหลบเลี่ยงจากการ “ก้าวย่ำกับที่” เพื่อก้าวพ้นกับดักให้เร็วขึ้นคือ การลงทุนที่มุ่งเน้นเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ ผ่านนวัตกรรมการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ความเข้มข้นต่อเนื่องในการปฏิบัติอย่างจริงจัง

โจทย์ที่ยากและไร้คำตอบคือ ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐที่  “โดยคสช. ของคสช. และเพื่อ คสช.(แต่อ้างว่าเพื่อสถาบันและประชาชน)” ปัจจัยที่จะทำให้สังคมไทยเลิกก้าวย่ำกับที่ ฝ่าข้ามกับดักชาติรายได้ปานกลางไปได้เร็วกว่า 30 ปี คงต้องถามหาปาฏิหาริย์

ถ้าบังเอิญ ไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ก็คงเอวัง

อีก 30 ปี ใครจะรอไหว

 

Back to top button