พาราสาวะถี

เอาคืนหรือไม่ไม่ทราบ แต่เมื่อท่านผู้นำย้ำในเรื่องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความพรรคเพื่อไทยและมีอีกหลายหัวโขนแต่เจ้าตัวยืนยันว่ามาในนามของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจึงไปยื่นเรื่องต่อประธานกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้พิจารณาวินิจฉัยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ


อรชุน

เอาคืนหรือไม่ไม่ทราบ แต่เมื่อท่านผู้นำย้ำในเรื่องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความพรรคเพื่อไทยและมีอีกหลายหัวโขนแต่เจ้าตัวยืนยันว่ามาในนามของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจึงไปยื่นเรื่องต่อประธานกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้พิจารณาวินิจฉัยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ

มุมมองข้อกฎหมายของวิญญัติเห็นว่าการกระทำของพปชร.เชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์จัดตั้งพรรคโดยผิดกฎหมาย มีกลุ่มบุคคลครอบงำการจัดตั้งพรรคโดยเรียกรับผลประโยชน์เพื่อลงสมัครเลือกตั้ง และใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคโดยอดีตรัฐมนตรีของพรรคดังกล่าว

อีกทั้งพปชร.กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้อำนาจการปกครองมาจากการปฏิวัติ เป็นบุคคลที่มีที่มาโดยมิชอบ ยึดอำนาจมาบริหารประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยและขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น วิญญัติยังยื่นคำร้องคัดค้านการประกาศชื่อผู้นำเผด็จการเป็นแคนดิเดตนายกฯของพปชร. เนื่องจากก่อนและหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับเงินเดือนและมีตำแหน่งกรรมการในหลายองค์กร มีค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. การประกาศรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯจึงมิชอบ

ความจริงกรณีคุณสมบัติของผู้นำเผด็จการที่รับเป็นแคนดิเดตนายกฯนั้น นักวิชาการและนักการเมืองที่เรียกร้องให้เจ้าตัวลาออกจากตำแหน่งก่อนหน้านี้ ก็ชี้ในทางเดียวกันว่ารัฐบาลรักษาการคสช.มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และยังมีมาตรา 44 รวมทั้งคสช.ยังมีอำนาจแต่งตั้งส.ว.ที่มีผลให้กลับมาเลือกนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ด้วยอำนาจที่มีดังกล่าว ถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ไม่เสรีและเป็นธรรม ตอกย้ำอีกรอบโดย พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่บอกว่า หากตัดเรื่องเป็นแคนดิเดตนายกฯออกไป ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว การที่คุณประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช.และนายกฯในขณะเดียวกัน ถือเป็นการกระทำต้องห้ามทำมิได้อยู่ดี ตรรกะเดียวกันกับการห้ามส.ส.เป็นผู้พิพากษาในเวลาเดียวกัน เพราะเรื่องอำนาจหน้าที่ทับซ้อน

แต่ข้อเรียกร้องทั้งหลายคงไร้ผลในเมื่อทุกอย่างถูกจัดวางมาตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจเสียด้วยซ้ำไป นอกจากจะไม่ปฏิบัติตาม การรักษามารยาททางการเมืองก็ยังเป็นเรื่องที่มีเครื่องหมายคำถามตามมา เพราะพปชร.พยายามหาหนทางที่จะให้ผู้นำเผด็จการร่วมเวทีปราศรัยได้หรือไม่อย่างน้อยก็ให้ผู้สมัครส.ส.ร่วมงานเวลาที่ลงพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดได้

การแสดงออกที่ใช้คำว่าความพยายามนั้นเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงก็พบว่าผู้สมัครส.ส.ของพรรคดังว่าก็ไปร่วมขบวนต้อนรับพลเอกประยุทธ์ทุกที่ มิหนำซ้ำ ยังได้รับสถานะแขกวีไอพีเสียด้วย เช่นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า วางตัวหรือไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแท้จริงหรือไม่ ไม่มีทางที่คนซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและประสงค์จะสืบทอดอำนาจจะเดินเกมแบบแฟร์เพลย์ เพราะเก็บทุกเม็ดเล่นทุกดอก บนปัจจัยที่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่กล้าตอแย

ปากที่บอกว่าทุกอย่างต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แท้ที่จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ทุกการกระทำขององคาพยพที่เกี่ยวข้องบ่งบอกได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การไปประชุมติดตามแผนบูรณาการและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ประจำปี 2563 ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

มีคำพูดที่สะท้อนถึงความมั่นใจในการอยู่ต่อและสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน เมื่อพูดถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ที่เฮียกวงบอกกับที่ประชุมว่า “ต้องการให้เกษตรกรมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เราพูดแบบนี้มาตั้งแต่แรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล และเราจะอยู่ต่อไปอีก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เราก็จะไม่ให้ใครมาดูแลเราจะดูของเราเอง เพื่อสานต่อโครงการที่เริ่มเห็นภาพแล้วว่าดี คือตลาดนำการผลิต”

ไม่เพียงแต่จะฉายภาพว่าข้ามาแน่เท่านั้น นี่ยังเป็นการอธิบายของสิ่งที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรายนี้ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับพรรคสืบทอดอำนาจ แต่การประกาศเช่นนี้ ถ้าไม่ได้มาด้วยการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะกลับมาแบบไหน ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงเต็มไปด้วยความกังวลและข้อกังขาว่า องค์กรอิสระที่กำกับดูแลจะทำให้โปร่งใส เป็นธรรม ได้จริงหรือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพชัดว่าผู้นำเผด็จการจะกลับมาพร้อมองคาพยพชุดเดิม แต่ถ้าย้อนกลับไปฟังความเห็นของอาจารย์พรสันต์เมื่อวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็น่าจะดีใจอยู่นิดหนึ่งว่า โครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 มีนัยยะค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่าจะเกิดรัฐบาลผสมแน่นอนและสภาจะวุ่นวาย เพราะช่วง 5 ปีแรกเกิดส.ว.ที่เกิดมาจากการแต่งตั้งของคสช. และเหตุการณ์ข้างต้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสภาพของรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมามีแนวโน้มจะพังด้วยตัวเอง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างนำการเมืองแบบสุดโต่งมาให้กับประเทศไทย ตัวรัฐธรรมนูญเองอาจจะต้องฟันฝ่ากับวิกฤตินั่นคือวิกฤติเรื่องความชอบธรรม คือการยอมรับความเชื่อในตัวรัฐธรรมนูญไม่มี ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ส่งผลต่อ ระบบการเมืองทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ ส่งผลให้ระบบกฎหมายไม่ได้รับการเชื่อมั่นและยอมรับไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่าน่าจะมีการปฏิรูปหลังการปฏิรูปและปฏิวัติอีกกระทอก

Back to top button