พาราสาวะถี

ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอนแม้ผู้บริหารของอสมท จะออกมายืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งปลด อรวรรณ ชูดี (กริ่มวิรัตน์กุล) พ้นจากการเป็นผู้ดำเนินรายการดีเบตที่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 จัดขึ้น หลังจากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถามคำถามนักศึกษา 100 คนที่มาร่วมในรายการด้วยหัวข้อ 4 คำถาม จนถูกมองว่าเป็นเหตุสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจ


อรชุน

ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอนแม้ผู้บริหารของอสมท จะออกมายืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งปลด อรวรรณ ชูดี (กริ่มวิรัตน์กุล) พ้นจากการเป็นผู้ดำเนินรายการดีเบตที่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 จัดขึ้น หลังจากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถามคำถามนักศึกษา 100 คนที่มาร่วมในรายการด้วยหัวข้อ 4 คำถาม จนถูกมองว่าเป็นเหตุสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจ

สิ่งที่น่าสังเกตจากถ้อยแถลงของ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้บริหารและบอร์ดองค์กรแดนสนธยาก็คือ “มิเคยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ปลดพิธีกรและแทรกแซงสื่อตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” หมายความว่าอย่างไร มีคำสั่งด้วยวาจากันไปก่อนหน้านั้นใช่หรือไม่

งานนี้คงต้องติดตามท่าทีจากเจ๊ตุ๊กคนข่าวอาวุโสที่เจ้าตัวโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไปวันก่อน ยอมรับคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาเรื่องความไม่เป็นกลาง แน่นอนว่า คนในแวดวงที่ได้รู้จักเธอคนนี้ ย่อมรู้ดีว่ามีความกระตือรือร้น ตั้งใจทำงานในหน้าที่ เป็นสื่อที่ไม่เคยมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่เหมือนกับคนสื่อบางคนที่ออกมาวิจารณ์ตัวเธอหลังเกิดเหตุถูกปลด ทั้ง ๆ ที่คนวิจารณ์นั้นสันหลังหวะขนาดไหนคนในวงการต่างรู้กันดี

กรณีที่เกิดขึ้นคงเป็นอย่างที่ผู้ประกาศคนดังอีกราย นารากร ติยายน ที่ให้กำลังใจอรวรรณ พร้อมแคปชั่นที่โดนใจนี่คือตัวอย่างชัดเจนของคำว่า “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ” แน่นอนว่าเมื่อย้อนกลับไปดู 4 คำถามที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอของการถูกเด้งนั้น น่าจะชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายว่าความจริงต่อกรณีนี้คืออะไรแน่ การแก้ตัวของฝ่ายมีอำนาจน่าจะรับฟังได้ยาก

ความจริงคำถามดังกล่าวก็ไม่ได้น่าหวั่นวิตกแต่อย่างใด เพียงแต่ดันเป็นคำถามที่ไม่ตรงกับคำตอบ (ที่ผู้มีอำนาจอยากจะให้เป็น) เท่านั้น เห็นด้วยหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไม่ร่วมการดีเบต เห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ เห็นด้วยหรือไม่เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจำเป็นสำหรับประเทศไทย และ เห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น

งานนี้ฝ่ายตรงข้ามฝ่ายกุมอำนาจก็ถลุงกันเละ แต่ฝ่ายที่ต้องอาศัยบารมีผู้มีอำนาจ ต่างพากันออกมาเรียกร้องอย่ามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับรัฐบาล ทั้ง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีของคณะเผด็จการที่ไปมีหัวโขนในพรรคพลังประชารัฐพูดเป็นเสียงเดียวกันเช่นนั้น ซึ่งก็พอจะรู้กันอยู่ว่าทำไมต้องรีบออกมาปกป้อง เพราะนี่จะสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของผู้นำที่กำลังจะไปขึ้นเวทีปราศรัยและช่วยพรรคหาเสียงในเร็ววันนี้

จะว่าไปแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกังวลกันอะไรขนาดนั้น การที่กกต.ไฟเขียวให้ผู้นำเผด็จการที่สวมหมวกหลายใบขึ้นเวทีปราศรัยและช่วยหาเสียงได้ ก็ไม่ต้องกลัวอะไรกันอีกแล้ว หมายความว่า สถานะต่าง ๆ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่ได้ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ ที่มีอยู่ และคงไม่มีใครจะไปส่งตีความหรือถ้ายื่นตีความก็พอจะเดาปลายทางได้ว่า ผลจะออกมาอย่างไร

แค่การยืนยันเรื่องคุณสมบัติของท่านผู้นำโดย วิษณุ เครืองาม ด้วยการอธิบายข้อกฎหมายสารพัดก็เห็นภาพกันแล้วว่ามันจะมีช่องทางใดที่จะนำไปดำเนินการเพื่อเอาผิดได้อีก ยิ่งในยุคที่ทุกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากอยากจะหาเหตุผลมาสร้างความสบายใจคงต้องฟังความเห็นของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ แม้จะเป็นการเหน็บแหนมแต่ก็เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล

ทุกคำอธิบายของเนติบริกรคือการช่วยกันสุด ๆ จนไม่รู้จะช่วยยังไงแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีคนบอกไว้ว่า นักกฎหมายต้องมีคุณธรรม แต่หากถูกกิเลสตัณหาครอบงำ ใช้ความรู้ ความสามารถในทางกฎหมาย บิดเบี้ยวหาช่องทางที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองหรือพวกพ้อง กฎหมายก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความจริงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายน่าจะหดหายไปไม่น้อย นับตั้งแต่ที่เผด็จการชอบอ้างเรื่องกฎหมายอยู่เป็นประจำ

ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ หากเป็นกฎหมายที่ฟังเสียงประชาชนและเกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ แต่กับกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเพื่อเล่นงานพวกใดพวกหนึ่งแล้วให้พวกหนึ่งพวกใดได้ประโยชน์ โดยใช้กลไกของอำนาจที่สถาปนากันขึ้นมาด้วยปลายกระบอกปืนแล้วเรียกว่ากฎหมาย เช่นนี้สำหรับคนทั่วไปที่หัวใจเป็นกลางอย่างแท้จริงคงยอมรับกันได้ยาก

ยังมีประเด็นการสรรหาส.ว.ที่ฟังคำชี้แจงจากเนติบริกรประจำรัฐบาล ถึงการไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อด้วยเหตุผลไม่อยากให้เกิดการวิ่งเต้น ขณะที่ประธานกรรมการสรรหาก็อ้างว่าเป็นเรื่องของคสช.ล้วน ๆ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิใด ๆ มาเข้าร่วม ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่มีอะไร แต่การตั้งข้อสังเกตจาก ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทยก็ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อย

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269(1) บอกให้คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนไม่เกิน 12 คน โดยกรรมการสรรหาจะต้องตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง อธิบายง่าย ๆ คือเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญต้องการให้ตั้งคนอื่นที่ไม่ใช่คสช.หรือครม. ยิ่งหัวหน้าคสช.และนายกฯ ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองด้วยแล้ว คณะกรรมการสรรหาส.ว.ลากตั้ง ควรยิ่งต้องตั้งคนที่สังคมให้การยอมรับและเห็นว่าเป็นกลางเข้ามาน่าจะดีที่สุด

ชัดเจนว่าถ้าทำกันแบบนี้ก็คือการตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจ ทำกันแบบงุบงิบ เป็นความลับทั้ง ๆ ที่กฎหมายไม่ได้บอกให้ลับและควรจะเปิดเผยโปร่งใสที่สุด แต่ยุคนี้จะไปถามหาเรื่องพวกนี้คงยาก หากไปถลกชายเสื้อของแต่ละคนดูสีข้างน่าจะเหวอะกันไปหมดแล้ว โดยเฉพาะพวกที่มีหน้าที่ด้านกฎหมาย เหมือนอย่างที่ชูศักดิ์บอกนั่นแหละ ทุกท่วงท่าที่ประชาชนได้เห็นเป็นการใช้วิชาเบี่ยงเบนแบบที่เนติบริกรชอบใช้ และในห้วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมาก็ใช้กันแบบไม่อายฟ้าอายดินกันเสียด้วย

Back to top button