NOK ในกำมือจุฬางกูร

การตั้งคำถามเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ของบุคคลภายนอกบริษัทแต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ว่า ได้จับตาการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อย่างใกล้ชิด ยังมีปัญหาทั้งด้านสถานะทางการเงินและกระแสเงินสด แม้จากการตรวจสอบล่าสุดทางบริษัทยังคงมีการชำระหนี้ตามปกติ ถือว่าน่าสนใจ แต่ไม่มีอะไรตื่นเต้นเพราะเป็นท่าที “ถามนำ” เพื่อให้มีคำตอบตามปกติ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

การตั้งคำถามเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ของบุคคลภายนอกบริษัทแต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ว่า ได้จับตาการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อย่างใกล้ชิด ยังมีปัญหาทั้งด้านสถานะทางการเงินและกระแสเงินสด แม้จากการตรวจสอบล่าสุดทางบริษัทยังคงมีการชำระหนี้ตามปกติ ถือว่าน่าสนใจ แต่ไม่มีอะไรตื่นเต้นเพราะเป็นท่าที “ถามนำ” เพื่อให้มีคำตอบตามปกติ

เหตุผลที่ถามนำเพราะที่ผ่านมาระยะสั้น สายการบินนกแอร์ มีการยกเลิกเที่ยวบินบางส่วน เช่น เส้นทางที่เคยบิน 3 เที่ยวบิน/วัน ลดเหลือ 2 เที่ยวบิน/วัน และล่าสุดสายการบินนกแอร์ก็ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-น่าน อย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนนี้ เป็นต้นไป เกรงว่าจะกระทบต่อธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารด้วย

คำถามดังกล่าวต้องการให้ฝ่ายบริหารชี้แจงให้ชัดเท่านั้นเองว่ามาจากอะไร เช่น เครื่องยนต์มีปัญหาขัดข้อง หรืออาจเพราะไม่มีผู้โดยสารจองตั๋ว หรือไม่มีเครื่องบินเพราะปลดระวาง

คำตอบดังกล่าว มีอยู่และตอบไปแล้วจากนายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ออกมายืนยันว่า 1) บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปตามปกติทั้งจากการเพิ่มทุนจำนวน 2,300 ล้านบาท และมีแผนชัดเจนเพื่อหยุดสภาวะขาดทุนให้ได้ภายในปีนี้ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการบรรทุกเฉลี่ยก็อยู่ที่ 80-90% 2) การขอยกเลิกเที่ยวบินต่อเนื่องนั้น เป็นการยกเลิกตามฤดูกาลท่องเที่ยว โดยจัดตารางบินให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสาร 3) ถ้าหากบริษัทกำลังเดินตามแผนธุรกิจในการหยุดขาดทุนให้ได้จนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะพิจารณาเรื่องการหาพันธมิตรร่วมทุนอีกครั้ง

ฟังคำตอบแล้วยังไม่น่าพอใจ เพราะยังไม่ได้พูดถึงการก่อหนี้ระลอกใหม่มูลค่า 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยแพงกว่าตลาดที่ระดับ 7.175% จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เจ้าเดิม นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร

หนี้ก้อนใหญ่ดังกล่าว เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ NOK ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 จากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือครองสัดส่วน 22.15% โดยมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ไม่เกินกว่าอัตราเฉลี่ย MLR +1 ของ 3 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่ ร้อยละ 7.175 ต่อปี มีระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน และไม่ต้องวางหลักประกัน

การกู้เงินระยะสั้นจำนวนมากจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เกิดจากความจำเป็นเพราะหากกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยตรง NOK สามารถกู้ได้แค่แห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาทเท่านั้น

ล่าสุด ที่ปรึกษาการเงินอิสระได้มีความเห็น (ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น) สนับสนุนการทำรายการดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการทํารายการฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดําเนินงานทั่วไป มีความสมเหตุสมผล

พร้อมกับยกข้อดีในการเข้าทํารายการ 4 ประการ คือ 1) มีเงินทุนเพียงพอสําหรับดําเนินกิจการ 2) เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือก นอกเหนือจากสถาบันการเงิน 3) เงื่อนไขการกู้ยืมเงินผ่อนปรนกว่าสถาบันการเงิน 4) ลดภาระผู้ถือหุ้นในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน

แม้ที่ปรึกษาการเงินอิสระจะยกข้อด้อยในการเข้าทํารายการ คือ 1) การพึ่งพิงบุคคลที่เกี่ยวโยงกันในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ 2) อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับสูงกว่าของคู่แข่ง 3) การกู้ยืมเงินแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบุคคลที่เกี่ยวโยงกันฯ และ 4) ความเสี่ยงที่อาจถูกคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้

ถ้าหักกลบข้อดีและข้อเสียเรื่องการพึ่งพาตระกูลจุฬางกูรมากเกินควรแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า ดีลนี้ มีแต่วิน-วิน เพราะด้านหนึ่ง NOK สามารถซื้อเวลาได้เพื่อกลับมามีกำไรในอนาคต ขณะที่จุฬางกูรก็มีผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงินไว้ในธนาคาร

กรณีที่กลุ่มจุฬางกูรเดิมพันอนาคตไว้กับ NOK ถือเป็นสถานการณ์ที่ดีแน่นอน เพราะชะตากรรมของ NOK หลังจากที่บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แจ้งข่าวยกเลิกแผนการเข้าซื้อหุ้นต่อจากกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนดังกล่าว ถือว่าส่งผลสะเทือนด้านจิตวิทยาไม่น้อย แม้โดยข้อเท็จจริง การซื้อขายเปลี่ยนมือจะไม่มีผลอะไรกับ NOK ในเรื่องมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น หรือมูลค่าทางบัญชี เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนมือการถือครองธรรมดา

การได้เงินเริ่มสภาพคล่องจากการก่อหนี้ไม่เกิน 1 ปีครั้งล่าสุด ที่หากผู้ถือหุ้นอนุมัติ จะลดชะตากรรมอันหมิ่นเหม่ของบริษัทสายการบินโลว์คอสต์รายนี้อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

ที่ผ่านมา การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ที่ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 40% จากเดิม (2,271.99 ล้านหุ้น เป็น 3,108.51 ล้านหุ้น) โดยที่สามารถขายหุ้นได้ในราคาเกินจริง 2.75 บาทต่อหุ้น ทำให้ได้เงินสดเข้ามาเสริมสภาพคล่อง และแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบได้ถึง 2,300 ล้านบาท

หากนำเงินเพิ่มทุนดังกล่าวมาหักกลบกับตัวเลขส่วนทุนติดลบเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 1,467.65 ล้านบาท เท่ากับล่าสุด NOK มีส่วนทุนแค่ ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะหากนำไปเทียบกับการขาดทุนสุทธิในปี 2561 ที่มากถึง 2,600 ล้านบาทเศษ ความเป็นไปได้ที่ NOK จะต้องเพิ่มทุนอีกรอบในปีนี้ มีสูงมาก

ทางเลือกด้วยการก่อหนี้เพื่อผ่าทางตัน แทนการเพิ่มทุนที่เสมือนจับผู้ถือหุ้นเป็นตัวประกันแก้ปัญหาการขาดทุนแบบ “ถมไม่เต็ม” ไปได้มากเรื่อย ๆ

แม้ในอนาคต การที่กลุ่มทุนอย่างจุฬางกูร ที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ของ NOK หลังจากการเพิ่มทุนครั้งที่สาม มีสัดส่วนถือครองหุ้นระดับ 55% อาจตกเป็นข่าวลือ ว่ากำลังเจรจาขายหุ้นที่ถือในมือทั้งหมด ให้กับกลุ่มที่สนใจกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ก็คงไม่แปลก เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้วางเดิมพันที่แสนแพงกับ NOK อย่างมากมายชนิดที่นาน ๆ ครั้งจะปรากฏ

ข่าวลือประเภทนี้ หากไม่นับเรื่องราคาหุ้น NOK ที่ร้อนแรงผิดปกติเป็นครั้งคราว ก็ไม่มีความหมายอะไรมากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของสายการบิน แต่จะทำให้ผู้บริหารของ NOK มีแรงกดดันให้ต้องตอบคำถามเรื่องเดียวเท่านั้นคือ ฐานะทางการเงินของ NOK จะฟื้นได้หรือไม่ เพราะนอกจากภาระเรื่องของ NOK เองแล้ว ยังมีบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ นกสกู๊ต ที่ยังต้องอัดฉีดทุนแก้ขาดทุนเช่นกัน

1 ปีจากนี้ได้ คงได้รับรู้กันว่าเดิมพันอันแสนแพงที่กลุ่มจุฬางกูรจะสามารถพาNOK พ้นจากห้องไอซียู กลับมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ตรงข้ามจากเดิม นับตั้งแต่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2557 เป็นต้นมา

บทเรียนนี้ คนที่รู้ซึ้งแก่ใจน่าจะเป็นกลุ่มจุฬางกูรที่ตกกระไดพลอยโจน กลายเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และ (ว่าที่) เจ้าหนี้รายใหญ่ NOK จะมีอนาคตใหม่ หรืออนาคตใหญ่ ได้รู้กัน

Back to top button