“ตารางชำระค่าคลื่น 900” จับตาปี 63 ดุ! DTAC จ่ายเพิ่มอีก 6 พันลบ. ส่อไม่ขอยืดชำระ

“กสทช.” นัดหารือผู้ประกอบการค่ายมือถือ-ทีวีดิจิทัล-ผู้ให้บริการโครงข่าย หลังคสช.ออกม.44 ช่วยเหลือ โบรกฯประเมิน DTAC อาจไม่เข้าร่วมมาตรการยืดจ่ายค่าคลื่น 900 MHz เป็น 10 ปี พ่วงเงื่อนไขเข้าประมูลคลื่น 700 MHz เหตุต้องลงทุนอุปกรณ์เพิ่มเพราะคลื่น 700 MHz เป็นคลื่นใหม่และมีข้อจำกัด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (17 เม.ย. 2562) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายและผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มาประชุมหารือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ หลังจากเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้เปรียบเทียบการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz แบบเดิม (5 ปี 4 งวด) และแบบใหม่ (10 ปี 10 งวด) ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 รายโดย ADVANC ชำระแบบเดิม (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 80,949 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 ชำระ 8,603 ล้านบาท ปี 2561-2562 ชำระปีละ 4,301 ล้านบาท และปี 2563 ชำระ 63,744 ล้านบาท ขณะที่ชำระแบบใหม่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 80,949 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 ชำระ 8,603 ล้านบาท ปี 2561-2562 ชำระปีละ 4,301 ล้านบาท และปี 2563 ชำระ 23,269 ล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2564-2568 ชำระปีละ 8,095 ล้านบาท

ส่วน TRUE ชำระแบบเดิม (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 81,639 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 ชำระ 8,603 ล้านบาท ปี 2561-2562 ชำระปีละ 4,301 ล้านบาท และปี 2563 ชำระ 64,434 ล้านบาท ขณะที่ชำระแบบใหม่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 81,639 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 ชำระ 8,603 ล้านบาท ปี 2561-2562 ชำระปีละ 4,301 ล้านบาท และปี 2563 ชำระ 23,614 ล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2564-2568 ชำระปีละ 8,164 ล้านบาท

ด้าน DTAC ชำระแบบเดิม (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 40,728 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2561 ชำระ 4,301 ล้านบาท ปี 2563-2564 ชำระปีละ 2,151 ล้านบาท และปี 2565 ชำระ 32,126 ล้านบาท ขณะที่ชำระแบบใหม่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งสิ้น 40,728 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2561 ชำระ 4,301 ล้านบาท ปี 2563 ชำระ 7,917 ล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2564-2570 ชำระปีละ 4,073 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีมุมมองที่ดีต่อการเปิดโอกาสในการขยายเวลาจ่ายเงินค่าคลื่น 900 MHz ของภาครัฐในครั้งนี้ เพราะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกมากขึ้นในการจ่ายชำระค่าคลื่น 900 MHz ได้แก่ จ่ายแบบเดิม 4 งวด หรือจ่ายแบบใหม่ขยายเป็น 10 งวด แต่มีเงื่อนไขต้องเข้าร่วมจัดสรรคลื่น 700 MHz

ทั้งนี้ หากอิงตามแนวทางที่ 2 ขยายการจ่ายค่างวดเป็น 10 งวด พบว่า มีข้อดีที่จะช่วยลดความตึงตัวทางการเงินในช่วงปีที่ต้องจ่ายเงินงวดสุดท้ายของผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 รายลง และเกิดผลบวกจากการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายในช่วงปีที่มีการขยายลง ซึ่งประเมินว่า TRUE จะได้ประโยชน์สูงสุดจากแนวทางดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแนวทางการจ่ายเงินค่างวดเป็น 10 งวด ที่ผู้ประกอบการจะต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องแบกรับต้นทุนการลงทุนในใบอนุญาตใหม่ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มนี้นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปรับขึ้นรับข่าวดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่แนะนำ “เก็งกำไร” ประเด็นการเข้าร่วมขอขยายจ่ายค่าคลื่น 900 MHz แล้ว พร้อมแนะนำติดตามรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz เพิ่มเติม

ดังนั้นประเมินว่าต้นทุนใบอนุญาตคลื่น 700 MHz ที่ ADVANC และ TRUE จะยอมรับได้ต้องไม่เกิน 11,000 ล้านบาท ในขณะที่ DTAC จะยอมรับต้นทุนใบอนุญาตใหม่ได้สูงสุดไม่เกิน 4,500 ล้านบาท ในขณะที่ ด้วยข้อจำกัดของคลื่น 700 MHz ที่เป็นคลื่นใหม่ที่ผู้ประกอบการมือถือไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้อาจต้องมีการลงทุนอุปกรณ์เพิ่ม จึงประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ DTAC จะไม่เข้าร่วมขอยืดเวลาการจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4/2562 มีสาระสำคัญแบ่งเป็นกรณีกิจการโทรทัศน์ คือ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ งวด 5 และ 6 ส่วนรายใดที่นำเงินมาชำระไปแล้ว มาขอคืนได้ แต่รายใดที่ยังชำระงวดที่ 4 ไม่ครบ ให้นำเงินมาชำระค่าประมูลให้ครบถ้วนด้วย และ กสทช.จะช่วยสนับสนุนออกเงินค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ให้ตลอดสิ้นสุดใบอนุญาตฯ ในปี 2572

ขณะที่ผู้รับใบอนุญาตรายใดมีความประสงค์คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ให้แจ้ง กสทช.อย่างเป็นทางการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และ กสทช.จะพิจารณาค่าชดเชยให้ผู้ประกอบการ โดยพิจารณาประเมินมูลค่าการใช้คลื่นในระหว่างที่ได้รับอนุญาตว่าผู้ประกอบการนำคลื่นไปใช้ประโยชน์อย่างไร รวมถึงค่าประมูลที่ได้ชำระมาแล้ว

ส่วนกรณีกิจการโทรคมนาคม คือ ผู้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ได้ขยายการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz จาก 4 งวด เป็น 10 งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยมีเงื่อนไขว่าหากไม่เข้าประมูลคลื่น 700 MHz ต้องกลับไปชำระ 4 งวด ตามเดิม โดยผู้ที่จะใช้สิทธิให้แจ้ง กสทช.ภายใน 30 วัน

Back to top button