ส่องทิศทาง-เปิดกลยุทธ์รับมือหุ้นแบงก์ หลังประกาศงบฯไตรมาส 1/62

ส่องทิศทาง-เปิดกลยุทธ์รับมือหุ้นแบงก์ หลังประกาศงบฯไตรมาส 1/62


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลังจากได้ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/62 ออกมาเสร็จสิ้นแล้ว โดยภายหลังประกาศผลการดำเนินงานพบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งมีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 55,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.46%

สำหรับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีกำไรสุทธิดังนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีกำไรสุทธิ 9,156 ล้านบาท ลดลง 2,208 ล้านบาท คิดเป็น -19.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 มีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 29%

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “Hold” SCB ราคาเป้าหมาย 145 บาท/หุ้น หลังประกาศกำไรสุทธิในไตรมาส 1 อยู่ที่ 9.2 พันล้านบาท ลดลง 19% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน เป็นไปตามที่ตลาดคาด ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง 18% จากปีก่อนจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านออนไลน์ ด้าน NIM มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ที่ 3.23% จาก 3.19% ในไตรมาส 1/618 ตามการเติบโตของสินเชื่อที่ 3% จากปีก่อน ซึ่งมาจากสินเชื่อรายย่อยในส่วนของสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก ส่วนภาพรวมของ NPL มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.76% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 ที่ระดับ 2.85% เพราะมีการ write-off ออกไปราว 5 พันล้านบาท โดยเรายังคงประมาณการในปี 2019 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบจากปีก่อน โดยคาดว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/62 มีโอกาสชะลอตัวลงจากการกลับมาตั้งสำรองฯที่ระดับปกติ credit cost ที่ 115-135bps แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมายที่ 145 บาท อิง PBV ที่ 1.25 เท่า เทียบเท่า -1SD ย้อนหลัง 5 ปี ชอบ BBL และ KBANK มากกว่า

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีกำไรสุทธิ 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท คิดเป็น +0.26% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 สาเหตุหลักมาจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ

บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” BBL ราคาเป้าหมาย 245 บาท/หุ้น หลังรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/2562 ที่ 9 พันลบ. เพิ่มขึ้น 11.4% จากไตรมาส และ Flat จากปีก่อน ใกล้เคียงกับที่เราและตลาดคาดไว้ กำไรที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 25% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ cost to income ratio ลดลงจาก 56% ในไตรมาสก่อนเป็น 42.6% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของค่าใช้จ่ายพนักงานซึ่ง BBL ได้บันทึกรายการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณราว 2.5 พันลบ.ในไตรมาส 4/61 หากหักรายการดังกล่าวออก กำไรปกติจะลดลงราว 10% จากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ คงประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ที่ 3.84 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อน ปัจจัยขับเคลื่อนหลักๆมาจากการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นตาม Loan yield ที่มีโมเมนตัมที่ดีมาตั้งแต่ไตรมาส 2/61 ขณะที่ด้าน Cost of fund จะบริหารจัดการได้ที่ระดับต่ำด้วยประโยชน์ของฐานเงินฝาก CASA ขนาดใหญ่ราว 52% ซึ่งเป็นเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ  นอกจากนี้เราคาดการณ์การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ 5% โดยคาดการณ์ผลบวกจากธุรกิจ Bancassurance ซึ่งน่าจะรุกมากขึ้น รวมถึงค่าธรรมเนียมที่คาดว่าจะดีขึ้นจากธุรกิจการจัดการกองทุนและ Wealth Management ขณะที่ผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนส่งผลต่อ BBL ไม่มาก คงราคาเหมาะสมที่ 245 บาท “ซื้อ”

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มีกำไรสุทธิ 10,004 ล้านบาท ลดลง 722 ล้านบาท คิดเป็น -7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ “Outperform” KBANK ราคาเป้าหมาย 208 บาท/หุ้น ทั้งนี้มองว่ากำไรสุทธิของ KBANK ในไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 1.00 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 7% จากปีก่อน ต่ำกว่าประมาณการของเรา 6.5% (แต่เป็นไปตาม consensus) เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมต่ำกว่าที่คาดไว้ และเบี้ยประกันสุทธิเกือบเป็นศูนย์ไตรมาส 1/62 ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 ชี้ว่าKBANK มีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินทรัพย์เนื่องจากธนาคารมองภาวะเศรษฐกิจเป็นลบโดยได้ปรับแนวธุรกิจมาเน้นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและพยายามเร่งแก้หนี้เสียเราคิดว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ธนาคารปลอดภัยมากขึ้นในแง่คุณภาพสินทรัพย์และไม่ต้องเผชิญแรงกดดันในด้านของการกันสำรองทั้งนี้เนื่องจากกำไรสุทธิในไตรมาส 1/62 คิดเป็น25% ของประมาณการกำไรปีนี้ของเราและเป้าการเติบโตต่างๆก็ยังคงเท่าเดิมดังนั้นเราจึงยังคงประมาณการกำไรคำแนะนำและราคาเป้าหมายไว้ที่ 208 บาท (P/E 12.5 เท่า, P/BV 1.2 เท่า)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีกำไรสุทธิ 12,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,523 ล้านบาท คิดเป็น +105% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ มาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นบริษัท เงินติดล้อ จำกัด จำนวน 50% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

บล.คิงส์ฟอร์ด แนะนำ “ซื้อ” BAY ราคาเป้าหมาย 48.50 บาท/หุ้น โดยกำไรไตรมาส 1/62 เติบโตก้าวกระโดด ขายเงินติดล้อได้ราคาดี หากไม่รวมทั้งสองรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ก็ยังสามารถเติบโตทำสถิติสูงสุดในประวัติกาลที่ 6.9 พันลบ. เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อที่ขยายตัวโดดเด่น เพิ่มขึ้น 2.3% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเติบโตของสินเชื่อทุก segment ยกเว้นเพียงสินเชื่อ credit card ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล แม้ NIM จะอ่อนตัวลงที่ 3.8%จากสัดส่วนสินเชื่อ corporate ที่เพิ่มขึ้นแต่ยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นที่ 1.94 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน, ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิชะลอลงที่ 5.3 พันลบ. -0.5%YoY, -6%QoQ หลักๆมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจ Wealth, Mutual Fund, Securities ที่ชะลอตัวตามภาวะตลาด โดยรวมแล้ว Cost to Income ปรับตัวลงที่ 39% โดยหากไม่รวมรายการพิเศษจากการขายเงินติดล้อและ Employee Benefit Cost to Income ทรงตัวที่ 46%  ทั้งนี้ปรับคาดการณ์กำไรปี 62 ขึ้นที่ 3.1 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน และปรับมูลค่าพื้นฐานปี 62 ขึ้นที่ 48.50 บาท แนะนำ “ซื้อ”

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB มีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ 1,579 ล้านบาท ลดลง 701 ล้านบาท คิดเป็น -30.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 ทั้งนี้เป็นผลมาจากธนาคารได้ตั้งสำรองเงินกรณี Employee Retirement Benefit ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ

บล.เคทีซีมิโก้ แนะนำ “Underperform” TMB ราคาเป้าหมาย 2.40 บาท/หุ้น หลังผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจและผลลบจาก dilution effect เป็นประเด็นกดดัน ทั้งนี้กำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ต่ำกว่าคาดการณ์ 8-15% ด้านอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับแผนการควบรวมกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 ประเมินมูลค่าพื้นฐานของธนาคารใหม่หลังควบรวมจะอยู่ที่ราว 2.2-2.4 บาท/หุ้น

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำ “Underperform” จากผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 ต่ำกว่าคาดการณ์ ทั้งนี้ แม้ว่าในระยะยาวเราจะเห็นประโยชน์และการผนึกกำลังทางธุรกิจ จากการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับ TBANK แต่ในระยะสั้น เรามองว่าอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ(Transition risk) อย่างน้อยในปีแรกหลังการควบรวม และคาดจะมีผลกระทบเชิงลบจากผล share dilution จะเป็นแรงกดดันหลักในระยะกลางต่อหุ้น TMB และธนาคารภายหลังการรวมกิจการ

ด้าน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มีกำไรสุทธิ 1,729 ล้านบาท ลดลง 37 ล้านบาท คิดเป็น -2.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 มีสาเหตุมาจากในไตรมาส 1/2562 ไม่ได้มีกำไรพิเศษเช่นเดียวกับไตรมาส 1/2561 ประกอบกับธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 1/2562 ชะลอตัวลงทั้งธุรกิจนายหน้าขายประกันภัย และธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนตามภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย

บล.เคทีซีมิโก้ แนะนำ “Outperform” TISCO ราคาเป้าหมาย 92 บาท/หุ้น มองกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 เป็นไปตามที่คาด มีกำไรสุทธิ 1.73 พันล้านบาท (ลดลง 2% จากปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน) ทั้งนี้ ปรับคำแนะนำเป็น “Outperform” จาก “ซื้อ” เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนรวมที่ลดลง ต่ำกว่าระดับ 15% อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนด้านบวกต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ได้แก่ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่โดดเด่นสุดในกลุ่มฯ ที่ 7.6% อิงเงินปันผลปี 2018 ที่ 7 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 29 เม.ย. 2019 ทั้งนี้ เราเห็นว่า TISCO ยังมีความน่าสนใจ จากการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงความสามารถในการบริหารกำไรที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) TCAP กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท คิดเป็น +6.16% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561

บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “BUY” TCAP ราคาเป้าหมาย 60 บาท/หุ้น หลังรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ที่ 2,016 ลบ. ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อนแข็งแกร่งตามที่เราคาดไว้แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดราว 11% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทำได้ดีกว่าที่เราคาด แม้ว่าจะลดลง 8% จากไตรมาสก่อน และ 7.7% จากปีก่อน เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่หดตัวราว 20% จากไตรมาสก่อน และ 19% จากปีก่อน

ทั้งนี้ แนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 62 น่าจะอ่อนตัวลงจากการบันทึกค่าใช้จ่าย Employee Retire Benefit ราว 700 ลบ. ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรประจำไตรมาสราว 28-30% อย่างไรก็ตามเราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ที่ 7 พันลบ. ลดลง 10% จากปีก่อน (กำไรที่ลดลงเกิดจากการกลับมาจ่ายภาษีในอัตราเต็ม โดย EBT คาด +5%Y-Y)

ด้าน ประเด็นการรวมกิจการระหว่าง TBANK (บริษัทย่อยซึ่ง TCAP ถือหุ้นราว 50%) กับ TMB มองเป็นบวกจากสภาพคล่องที่ TCAP จะได้รับจากการขาย TBANK ซึ่งน่าจะนำไปสู่การจ่ายปันผลพิเศษ การซื้อหุ้นคืน หรือการขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอื่นๆ รวมไปถึงการบันทึกกำไรจากการขาย TBANK อย่างมีนัยฯ จึงคงคำแนะนำ ซื้อ และคงราคาเหมาะสมที่ 60 บาท

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรสุทธิ 1,228 ล้านบาท ลดลง 285 ล้านบาท คิดเป็น -18.8%

บล. ดีบีเอสฯ แนะนำ “ซื้อ” KKP ราคาเป้าหมาย 97 บาท/หุ้น โดยกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 เท่ากับ 1.23 พันล้านบาท (-18.8% จากปีก่อน, ลดลง 13.9% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าคาดไว้ เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด

โดยกำไรจากการดำเนินงาน (PPOP) ลดลง 12.4% จากปีก่อน แต่ เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน เป็น 2.0 พันล้านบาท การลดลงจากปีก่อนมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัว ส่วนการเพิ่มไตรมาสก่อน เพราะค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง  ทั้งนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัว โดยรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง 1.1% จากปีก่อน และลดลง 13.9% จากไตรมาสก่อน เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง เงินปันผลรับและกำไรจากการลงทุน -34.6% จากปีก่อน

ทั้งนี้ แนะนำซื้อ KKP โดยให้ราคาพื้นฐาน 97 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปีนี้ที่ 1.8 เท่า จุดเด่น คือ จ่ายปันผลสูง โดยคาดการณ์ปันผลปี 62 ไว้ที่ 5 บาท/หุ้น (จ่ายปีละ 2 ครั้ง) คิดเป็น Dividend yield ปี 62 เท่ากับ 7.0% สำหรับปันผลงวด 2H61 ที่ประกาศจ่าย 3 บาท/หุ้น จะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 30 เม.ย.62

ส่วนธนาคารขนาดเล็ก คือ LHFG มีกำไรสุทธิ 807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36 ล้านบาท คิดเป็น +4.66% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลกำไรครั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เงินปันผล 51.5% และการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 69.7%

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT มีกำไรสุทธิจำนวน 325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท คิดเป็น +92.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 3.4% และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 17.4%

และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดว่า KTB จะมีกำไรสุทธิประมาณ 6,077 ล้านบาท ลดลง 709 ล้านบาท หรือคิดเป็น +10.44% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561

ด้าน บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า กลุ่มธนาคารได้ทยอยแจ้งงบฯ ไตรมาส 1/2562 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นภาพผลกำไรที่ชัดเจนขึ้นว่า เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยเป็นผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ลดลงต่อเนื่องจากช่วงปี 2561 รวมถึงการสำรองเงินสำหรับการปรับค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณ และเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 2/2562 มองว่า ก็ยังไม่น่าจะโดดเด่นมากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอยู่ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมยังปรับลดลง รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อยังไม่โดดเด่น และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวขึ้นได้ยาก จากการต้องยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

Back to top button