เฟดบนทางเลือกอันยากยิ่ง

นโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่ในอดีตเคยเบ็ดเสร็จที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มถูกสั่นคลอนมากขึ้นในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ จนเริ่มมีข้อสงสัยว่าในอนาคตเฟดที่เป็นต้นแบบของหลักการ “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” จะมีอยู่จริงหรือแค่เขียนไว้โก้ ๆ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

นโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่ในอดีตเคยเบ็ดเสร็จที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มถูกสั่นคลอนมากขึ้นในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ จนเริ่มมีข้อสงสัยว่าในอนาคตเฟดที่เป็นต้นแบบของหลักการ ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จะมีอยู่จริงหรือแค่เขียนไว้โก้ ๆ

ล่าสุดในการประชุมเฟดประจำเดือนนี้ที่จะประชุมในวันอังคาร (30 เม.ย.-1 พ.ค.) นี้ ถูกนักวิเคราะห์และตลาดปรามาสว่านอกจากจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิมชนิดไม่มีอะไรจะพูดแล้วยังถือว่าขาดความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

คำอธิบายเบื้องหลังคำปรามาสนอกจากเหตุผลทางเทคนิคที่เกิดจากเหล่าผู้กำหนดนโยบายของเฟดยังรอดูสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเติบโตต่อเนื่องแค่ไหนแล้วยังมีแรงกดดันจากทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 2  ด้านพร้อมกัน

แรงกดดันกระทำ 2 ทางพร้อมกันด้านหนึ่งบีบคั้นให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง (แม้จะพยายามออกตัวว่าเคารพในความเป็นอิสระของเฟด) แต่อีกด้านหนึ่งผลักดันภายในให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเล็งแต่งตั้งคนที่สนับสนุนตนเข้าไปนั่งในเฟดปูทางสำหรับการลดดอกเบี้ย

แรงกดดันดังกล่าวทำให้คำถามว่าที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวเสมอมาว่าเฟดเป็นอิสระไม่มีใครแทรกแซงได้การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นสำคัญน่ารับฟังมากน้อยแค่ไหน

สถานการณ์ที่สร้างคำถามนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมุมมองว่าเฟดกำลังยืนอยู่บนทางสามแพร่งว่าจะต้องเลือกเอาการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมในปัจจุบัน

ปีที่ผ่านมาเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 4 ครั้ง หลังจากนั้นก็ส่งสัญญาณชัดว่าปีนี้จะไม่ขึ้นอีก ซึ่งมองจากมุมของนักเศรษฐศาสตร์เมื่อข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่งเช่นนี้การลดดอกเบี้ยจึงออกจะขัดความรู้สึกเพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นที่ล่าสุดดัชนีสำคัญตลาดหุ้นวอลล์สตรีทโฉบเฉี่ยวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราว่างงานต่ำกว่า 4% และอัตราการจ้างงานยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าเฟดจะยึดมั่นกับคำประกาศเมื่อเดือน ธ.ค. ไปอีกระยะหนึ่งที่ว่าเฟดเตรียมพร้อมยุติการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนที่เชื่อว่าตนเองตีนติดดินมากพอก็ยอมรับว่ามองว่าความเป็นไปได้ที่ต่อไปเฟดจะต้องลดดอกเบี้ยแน่นอนมีสูงเพราะในการที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วได้มีความสุ่มเสียงที่มองเห็นแล้วว่าอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์คงไม่สดใสแน่นอนจึงขึ้นดอกเบี้ยดักหน้าเพื่อให้มีโอกาสถดถอยในอนาคต ถ้าปี 2020 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดภาวะถดถอยขึ้นมาจริง ๆ เฟดจะได้มีเครื่องมือการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อประคองเศรษฐกิจ

เหตุผลเบื้องหลังความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอยู่ที่ว่าฐานะการคลังสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดีทรัมป์หนี้ท่วมถึงคอหอยแล้ว

ตัวเลขหนี้ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมยอดหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปถึง 21.6 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 77% ของจีดีพี คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 78% ของจีดีพี และยอดหนี้รวมในสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นไปถึง 71.845 ล้านล้านดอลลาร์ เฉลี่ยหนี้ต่อหัวคนอเมริกัน 218,223 ดอลลาร์ เฉลี่ยหนี้ต่อครอบครัว 853,852 ดอลลาร์ ในอนาคตคาดกันว่าฐานะการคลังของสหรัฐฯ จะแย่ลงกว่านี้เพราะเก็บภาษีได้น้อยลงจากการลดภาษีครั้งใหญ่ของทรัมป์

แรงกดดันที่ทำให้ทำเนียบขาวจำต้องเลือกใช้ มือที่มองเห็น จึงอยู่ที่ความต้องการลดภาระทางการคลังของรัฐบาลกลาง

ความเคลื่อนไหวที่ดู “ล้ำเส้น” ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (26 เม.ย.) ที่ผ่านมาของนายแลร์รี คัดโลว์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีส่อนัยบางอย่างไปถึงเฟดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โตอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อไตรมาส 1 อาจเปิดช่องให้ลดเป้าอัตราดอกเบี้ยได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าเพราะเล็งเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อ (มาตรวัดที่ถูกจับตามากที่สุดอีกตัวหนึ่งซึ่งไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.3%) มีลักษณะ ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ท่าทีอ้ำอึ้งในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อเดือนก่อนระบุว่าทิศทางนโยบายเป็นไปได้ทั้ง 3 ทาง เท่ากับว่าการลดดอกเบี้ยก็มีโอกาสเป็นไปได้

หากมองที่ทิศทางนักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สที่เชื่อว่า รู้แกวเฟด มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ดูเหมือนเชื่อว่าเฟดจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 9 เดือนข้างหน้า โดยมีความเป็นไปได้ 20% ว่าต้องลดดอกเบี้ยเร็วสุดในเดือน มิ.ย.

เพียงแต่ข้อโต้แย้งยังจบลงยากเพราะนักยุทธศาสตร์การเงินหลายสำนักยังคงแย้งว่าตราบใดที่ตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งแบบไตรมาสแรกต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีอาจทำให้เฟดต้องคิดถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ตัวเลขสูงสุดการเติบโตจีดีพีสหรัฐฯ เป็นประวัติการณ์ 3.2% ระหว่างไตรมาส ม.ค.-มี.ค. ซ่อนสัญญาณความอ่อนแอบางอย่างเอาไว้ เช่น การนำเข้าลด การบริโภคซบ สินค้าคงเหลือเพิ่ม และการลงทุนของภาคธุรกิจอ่อนแรง ถือเป็นการปกปิดสัญญาณอันตรายเบื้องลึกที่เกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้ออ่อนแรงต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอันเป็นมาตรวัดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) มาตรวัดสำคัญของเฟดก็ไม่เคยเกินเป้า 2% เลยในรอบ 7 ปี

เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจแกร่งขึ้นแบบสวนทางกันแสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแม้อัตราว่างงานต่ำและค่าจ้างเพิ่มแรงกดดันราคาไม่ตอบสนองทำให้เฟดพอมีแรงกระตุ้นลดดอกเบี้ยขึ้นมาบ้าง

ในอดีตนานมาก เฟดยิ่งใหญ่กลายเป็นองค์กรที่ตลาดเก็งกำไรทั่วโลกต้องจับตาตลอด เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดโยงใยเข้ากับความสามารถในการออกแบบให้ค่าดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนสภาพจาก เงินเลว กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่งผลทำให้ดุลชำระเงินของสหรัฐฯ ยังคงเป็นบวกเสมอมา ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีตัวเลขดีเกินจริงและค่าดอลลาร์แข็งเกินจริง

หากเฟดลดดอกเบี้ยตามแรงกดดันของทรัมป์และพวกตลาดหุ้นอาจจะทำนิวไฮระลอกใหม่ที่กลายเป็นฟองสบู่แต่ค่าดอลลาร์ในระดับโลกจะดิ่งเหวอันเป็นการฆ่าตัวตายผ่อนส่ง เพื่อทำลายความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจอเมริกันโดยปริยาย

ทางเลือกของฮ็อบสัน” (หมายถึงการเลือกที่ไม่มีสิทธิเป็นอื่น) จึงเป็นความยากลำบากและอันตรายยิ่งของเฟดในยามนี้

Back to top button