BEAUTY ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง

นักลงทุนที่เคยถือหรือติดหุ้นการตลาดความงามอย่าง บริษัท บิวตี้คอมมูนิตี้ จำกัด (มหชาน) หรือ BEAUTY คงต้องกลับไปทบทวนคำพูดเก่า ๆ ของนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างเบนจามิน เกรแฮม กันอีกครั้งและทำความเข้าใจกับคำว่า “ขีดเส้นใต้” หรือ bottom line กันให้ชัดเจนอีกครั้ง


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

นักลงทุนที่เคยถือหรือติดหุ้นการตลาดความงามอย่าง บริษัท บิวตี้คอมมูนิตี้ จำกัด (มหชาน) หรือ BEAUTY คงต้องกลับไปทบทวนคำพูดเก่า ๆ ของนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างเบนจามิน เกรแฮม กันอีกครั้งและทำความเข้าใจกับคำว่า ขีดเส้นใต้ หรือ bottom line กันให้ชัดเจนอีกครั้ง

เหตุผลง่าย ๆ เพราะปาฏิหาริย์ที่เคยทำให้ค่าพี/อี ของหุ้นตัวนี้มากกว่า 45 เท่า ขึ้นไปต่อเนื่องนานหลายปีจนทำให้คนในตระกูลไกรภูเบศ กลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านอย่างรวดเร็วไม่มีอีกแล้ว

จากนี้ไป BEAUTY คงหนีไม่พ้นเป็นหุ้นที่ปกติธรรมดาที่ต้องพึ่งพาผลประกอบการขับเคลื่อนราคาเป็นหลัก

รายงานล่าสุดสัปดาห์นี้ที่ BEAUTY เปิดกำไรไตรมาส 1/2562 แค่ 69 ล้านบาทหรือกำไรต่อหุ้นลดลงเหลือแค่หุ้นละ  0.02 บาท บ่งบอกชัดเจนว่าค่า PEG ที่ติดลบมากกว่า 70% ส่งผลทำให้การที่ราคาหุ้นร่วงก่อนหน้านี้มาอยู่ใต้ 5.60 บาท ไม่ใช่เกิดเพราะมีใครทุบหรือวิกฤตศรัทธาแต่เป็นเรื่องที่โยงใยกับข้อเท็จจริงที่ว่าอัตราการเติบโตที่เคยขับเคลื่อนราคาหุ้นเกินจริงยาวนานนั้นหมดไปแล้ว

กำไรและอัตราเติบโตของกำไรที่เป็นขาลง (แม้จะยังมีกำไร) คือปัจจัยที่ลากเอาเทวดาลงมาเดินดินง่ายมานักต่อนักราคาหุ้น BEAUTY ก็หนีไม่พ้น

BEAUTY เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2555 และเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเนื่องจากผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอแม้อัตราเงินปันผลตอบแทนจะไม่สูงก็ตาม

ช่วงที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคา 8 บาท จากพาร์ 1 บาท (ปัจจุบันปรับพาร์เหลือ10 สตางค์) กลุ่มไกรภูเบศ ถือหุ้นเมื่อแรกเข้าจดทะเบียนในสัดส่วนประมาณ 70 % ของทุนจดทะเบียน

รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2562 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2562 มีกำไรลดลงมากเนื่องจากบริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 1/2562 เท่ากับ 548.74 ล้านบาท ลดลง 39.36% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1/2561 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลกระทบต่อเนื่องเรื่องของอย. จากการปราบปรามสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายของบริษัทอื่นเมื่อปี 2561 ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเครื่องสำอางมากขึ้นแต่ในระยะยาวคาดว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นเนื่องจากสินค้าบิวตี้ผ่านการตรวจสอบและมีอย. อย่างถูกต้องทุกรายการ

นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบจากเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งถือเป็นฐานรายได้หลัก) ที่ยังไม่ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายเท่ากับ 181.89 ล้านบาท ลดลง 6.31% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1/2561 และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 66.33 ล้านบาท ลดลง 12.20% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1/2561 ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

ทางออกที่ผู้บริหารแจ้งในงบการเงินคือบริษัทยังคงพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องรวมถึงเพื่อรองรับทิศทางของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาดีขึ้นในครึ่งหลังปี 2562 และปรับกลยุทธ์โดยการเพิ่มช่องทางใหม่ในตลาดจีน ( นอกเหนือจากการเพิ่ม Distributor รายที่ 6 ของจีน) ได้แก่ Cross Border E-Commerce (CBEC) & General Trade (Online & Offline) และได้มีการปรับเปลี่ยนและเซ็นสัญญาแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการขยายไปยังตลาดประเทศอื่น ๆ อีกสิบกว่าประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงจากตลาดเดียวซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลชัดเจนในครึ่งปีหลังของปีนี้ก็เป็นความคาดหวังที่ยากจะบอกผลลัพธ์ล่วงหน้าได้ว่าขาลงของผลประกอบการจะสิ้นสุดมากเพียงพอทำให้ราคาหุ้นกลับมาหวือหวาอีกครั้งเหมือนช่วง 3 ปีแรกที่เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ถ้าเชื่อข้อมูลที่ผู้บริหารบอกกลุ่มนักวิเคราะห์ว่าคงเป้ารายได้ปีนี้ยังโตมากกว่า 20%, Net profit margin มากกว่า 25%, Retail SSSG +7% และตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศขยายตัวมากกว่า 100 การฟื้นตัวของราคาหุ้น BEAUTY คงยากจะกลับมาหวือหวาได้อีกเหมือนก่อนหน้า

ที่เหลือแค่ตำนานให้เล่าขานกัน

BEAUTY เป็นตัวอย่างของหุ้นที่ฟอร์มดีต่อเนื่องหลังเข้าระดมทุนในตลาดจากธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงและโมเดลธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องทำให้มีขาประจำบรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาแวะเวียนทำกำไรยังผลให้ค่าพี/อีของหุ้นสูงมากโดยไม่ใส่ใจกับเงินปันผลที่ต่ำมาก

ผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่นำโดย หมอสุวิน ไกรภูเบศ ได้รับประโยชน์จากขาขึ้นของ BEAUTY หลายรอบขายหุ้นทั้งที่เพิ่มทุนและส่วนตัวหลายครั้งแรก ๆ นั้นข้ออ้างเรื่องขายหุ้นให้กองทุนและพันธมิตรเพื่อเติมสภาพคล่องยังมีคนเชื่อถืออยู่ก็ไม่มีปัญหาอะไรจนกระทั่งเมื่อตระกูลไกรภูเบศ ขายหุ้นออกจากมือมากเกิน “ขีดจำกัด จนส่วนของการถือครองต่ำกว่า 25% จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามถึงอนาคตและกลายเป็นวิกฤตศรัทธาเกิดแรงขายชนิดเทกระจาดทุกราคาต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่มีข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบกับ BEAUTY อย่างชัดเจน ในขณะที่ หมอสุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทได้ออกมาแถลงปฏิเสธข่าวลือทั้งหมดแต่ไม่อาจหยุดยั้งแรงขายได้ไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา

ผู้ถือหุ้น BEAUTY จำนวน 19,803 ราย อยู่ในภาวะตกสวรรค์ไม่มีใครตั้งตัวหนีการดิ่งเหวของราคาหุ้นได้ทันและไม่มีใครคิดว่าหุ้นธุรกิจความงามตัวนี้จะถูกทุบจนยับเยินจนร่วงลงมาต่ำกว่าระดับ 10 บาท แล้วก็ไม่เคยกลับขึ้นไปอีกเลย

กระนั้นหากพิจารณาพื้นฐานราคาใต้ 10 บาท เทียบกับราคาพาร์แค่ 0.10 บาท ก็ยังถือว่าแพงอยู่ดีเพราะค่าพี/อีที่มากกว่า 17 เท่า และกำไรสุทธิที่ถดถอยลงทำให้ยากที่จะมีปาฏิหาริย์ครั้งที่สองง่าย ๆ

โดยเฉพาะคำถามคาใจนักลงทุนที่ว่าทำไม ตระกูลไกรภูเบศ จึงทิ้งหุ้นเสียจนต่ำกว่า 25% โดยเจตนาซึ่งยังไม่เคยมีคำตอบชัดเจน

การที่ผู้บริหารและเป็นผู้ก่อตั้งมีท่าทีอึมครึมพยายามบอกแต่แผนธุรกิจเป็นหลักไม่ได้ช่วยทำให้ศรัทธาที่เหือดหายไปฟื้นคืนมาได้แน่นอนเพราะยังไม่มีคนอยากฟังเรื่องนี้มากนัก

ยิ่งในยามที่กำไรเป็นขาลงด้วยแล้วการขายกระหน่ำล่าสุดย่อมบอกอารมณ์ขุ่นมัวของผู้ถือหุ้นได้ดีว่าให้ความเชื่อถือฝีไม้ลายมือของผู้บริหารต่ำลงรุนแรง

วิกฤตราคาที่เกิดขึ้นกับ BEAUTY ใน 1 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีที่มาและที่ไปทางเลือกในการทำให้ราคากลับไปจึงไม่ง่ายและต้องการมากกว่าปาฏิหาริย์

 

Back to top button