วิบากกรรมยังจบไม่ได้

ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะพูดถึงตำนานแห่งความฉ้อฉลของคนในวงการตลาดทุนโดยเฉพาะน.พ. วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ (หมอวิชัย หรือ ศรีธนญ(วิ)ชัย) อดีตประธานกรรมการบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ผู้อื้อฉาว


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะพูดถึงตำนานแห่งความฉ้อฉลของคนในวงการตลาดทุนโดยเฉพาะน.พ. วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ (หมอวิชัย หรือ ศรีธนญ(วิ)ชัย) อดีตประธานกรรมการบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ผู้อื้อฉาว

หลายคนด่วนสรุปว่าคำพิพากษาศาลอาญาคดีหมายเลขแดงที่อ.1223/2562 เมื่อวันที่15 พ.ค.62 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหมอวิชัยเป็นเวลา 2 ปี (จำนวน2 กรรมกรรมละ1 ปี) และลงโทษจำคุกนายศุภกร แย้มงาม เหลือเป็นเวลา 1 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาโดยไม่ให้รอการลงโทษพร้อมกับให้นับโทษนายวิชัยต่อจากคดีหมายเลขแดงที่อ.359/2562 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราที่ลงโทษจำคุกนายวิชัยเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐานฟ้องเท็จซึ่งเป็นคดีที่นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิชัย รวมปัจจุบันนายวิชัย ถูกศาลลงโทษจำคุกแล้ว 4 ปี คือการปิดฉากทางธุรกิจของหมอวิชัยไปแล้วซึ่งเป็นข้อสรุปที่ถูกบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด

คดีดังกล่าวเป็นแค่ศาลชั้นต้นจากอีกหลายสิบคดีที่เกิดขึ้นพัลวันพัลเกไปหมดแต่ที่สำคัญแม้โดยนิตินัยหมอวิชัย จะพ้นจากการบริหารงานใน IFEC ที่เป็นโฮลดิ้งแต่ยังนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทในเครือนับสิบแห่ง

ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการ IFEC ชุดใหม่ จะต้องทำการชำระสะสางความเสียหายของบริษัทลูกที่อยู่ในกำมือของหมอวิชัย

เพียงแต่คำพิพากษาดังกล่าว มีส่วนเร่งรัดให้ปัญหาใหญ่ของหมอวิชัย เปลี่ยนไปจากความพยายามที่ยึดครองอำนาจบริหาร IFEC ให้ยาวนานที่สุดเคลื่อนไหวร้องคัดค้านการตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ในทุกวิถีทางคงจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับคดีที่ก่อไว้ (รวมทั้งคดีที่หมอวิชัย ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดทุจริตและถูกห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน)

ที่สำคัญบทเรียนของIFEC ที่ปัจจุบันเหลือแต่ซากทรัพย์สินเล็กน้อยและกองหนี้เป็นกรณีศึกษาที่ไม่รู้จบของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ตอกย้ำคำพูดเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ว่าการถือหุ้นไม่ใช่การ “เล่นหุ้น” หากเป็นการลงทุนเพื่อค้นหาอนาคตของกิจการเพื่อร่วมเสี่ยงกับอนาคตร่วมกันเพราะท้ายที่สุดแล้วความยั่งยืนของธุรกิจแต่ละรายอยู่ที่กำไรขาดทุนและการเติบโตแข็งแกร่งทางการเงิน

การไม่ส่งงบการเงินและถูกผู้สอบบัญชีปฏิเสธรับรองงบการเงินหลายปียังมีคำถามว่าหากผ่านกระบวนการชำระสะสางเสร็จแล้วมูลค่าทางบัญชีของ IFEC จะเหลือเท่าใดกันแน่

ตำนานอัปยศของ IFEC นับแต่พ.ศ. 2556 ที่ร่วมกันสร้างโดยสองคู่หูหมอวิชัยและนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ เป็นกรณีศึกษาระดับคลาสสิกในระยะต่อไปแน่นอน

ปี2556 กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่นำโดยหมอวิชัย แพทย์แห่งโรงพยาบาลพระราม 9  และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ นักการเงินจับมือร่วมกัน นำนักลงทุนหลากหลายร่วมกันลงขันซื้อหุ้นบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสต์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมกลุ่มสหพัฒน์ ฯ ที่เผชิญกับธุรกิจขาลงในธุรกิจถ่ายเอกสารเพราะเจ้าของแบรนด์ ในญี่ปุ่นอย่าง Konica Minolta Business Solution Asia Pte Ltd. (KM BSA) ไม่ต่อสัญญาให้แก่ IFEC ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม  2557 ทำให้บริษัทเดิมไร้อนาคตกะทันหัน

หลังจากซื้อกิจการมาแล้ว คนแรกก็ขึ้นเป็นประธานกรรมการ  ส่วนคนหลังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มี อำนาจเซ็นแทนบริษัทแบบ “คู่หูดูโอ้” พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์ว่าต้องการพลิกฐานะของ IFEC ไปสู่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่กำลังเป็นขาขึ้นตามแผน PDP ของรัฐบาล

การเริ่มต้นด้วยความฝันในการก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานทดแทน (ด้วยความร่วมมือของที่ปรึกษาการเงิน) พร้อมก้อนเงินสดมากเกินพอที่จะพร้อมรุกเข้าไป “ซื้อเพื่อสร้าง”  กิจการโรงไฟฟ้าถึง 4 ประเภท สอดคล้องแผนพัฒนาพลังงานที่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกค่อนข้างมากถึง 1.4 หมื่นเมกะวัตต์

ในช่วงแรกนั้น นพ.วิชัย และ นายสิทธิชัย ถือเป็น “ดาวรุ่งธุรกิจ” ที่ได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์และกองทุนต่าง ๆ อย่างมากที่มีมุมมองว่านับแต่ปี 2558 เป็นต้นไป  IFEC จะมีกำไรสุทธิโดดเด่นมากจากการเติบโตก้าวกระโดด

คำแนะนำ “ซื้อ” ของนักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดหุ้นไทยยามนั้น (โดยมองข้ามข้อเท็จจริงว่ากิจการที่ซื้อมาแพงกว่าปกติ) ทำให้ราคาหุ้น IFEC สุดแสนจะหวือหวาดันราคาหุ้นปรับขึ้นสูงสุดเกือบ 18 บาท ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แต่หลังจากนั้นราคาปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยกลับไปสู่จุดสูงสุดเดิมได้เลย

กลางปี2558 ผู้บริหารทั้งหมอวิชัย และนายสิทธิชัย ได้ร่วมกันลงมือปฏิบัติการเบี่ยงเบนจากธุรกิจพลังงานทางเลือกด้วยการทุ่มเงินสด 2.5 พันล้านบาท ผ่านบริษัทลูกชื่อ ICAP เข้าซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวีเชียงใหม่ โดยที่ไม่มีแผนธุรกิจมาก่อนเลย โดยเป็นการซื้อโรงแรมมา 1.5 พันล้านบาท และหนี้ของโรงแรมที่มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านบาท ด้วยจากเจ้าของเดิมที่แม้จะมีกำไรแต่ก็ไล่ไม่ทันดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการซื้อที่ “ถูกมาก” และสามารถคืนกำไรได้ทันทีจากการพากิจการออกจากแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง แถมยังอาจจะขายต่อที่ดินรอบ ๆ โรงแรมได้ในราคาสูงไม่ต้องสร้างธุรกิจพลังงานทดแทนที่ “มีความเสี่ยงสูง”

ความผิดปกติจากการระบุว่ากิจการพลังงานทดแทนที่เป็นอนาคตใหม่กลายเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงทำให้สะท้อนว่าโมเดลธุรกิจของ IFEC เริ่มตีบตัน

การซื้อโรงแรมดาราเทวี แม้จะให้เกิดกำไรทางบัญชีมหาศาลในงบการเงินปี 2559 แต่ก็ทำให้หมอวิชัย และนายสิทธิชัย เริ่มมองหน้ากันไม่ติด แต่ที่น่าสนใจคือคนทั้งคู่เริ่มแข่งขันขายหุ้น IFEC ทิ้งเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2558 และมาชัดเจนในปี 2559 ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้ออ้างที่เคยประกาศว่า จะทำตามความฝันผลักดันให้ IFEC เป็นหุ้นพลังงานทางเลือกระดับหัวแถว

ลักษณะการขายมีทั้งเข้าซื้อและขายหุ้นมีทั้งรูปแบบ “ซื้อเช้าขายบ่าย” หรือ “ซื้อบ่ายขายเช้าวันถัดมา” สลับกันมาตลอดในขณะที่ราคาหุ้น IFEC โรยตัวซึมยาวต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดคนทั้งคู่มีหุ้นในมือน้อยกว่าร้อยละ 5% โดยมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาถือหุ้นใหญ่แทนก่อนที่นายสิทธิชัยจะลาออกจากทุกตำแหน่งใน IFEC ปลายปี 2559 ที่ตามมาด้วยปฏิบัติการ “สาดโคลน” ในสงครามภาพลักษณ์ก็เริ่มต้นขึ้นโดยเป้าหมายมุ่งไปที่นายสิทธิชัย เป็นสำคัญในฐานะแพะรับบาปสำหรับด้านลบที่เคยเกิดขึ้น

ปฏิบัติการดังกล่าวระบุปัญหาหลัก 2 เรื่องคือ ความไม่ชอบมาพาพากลในการซื้อโรงแรมดาราเทวีที่เชียงใหม่และการแย่งอำนาจจัดการในบริษัทย่อยของ IFEC ที่นายสิทธิชัย ยังนั่งเป็นกรรมการต่อไประยะหนึ่ง

ผลของสงครามสาดโคลนสะท้อนความเหลวแหลกและผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารงานใน IFECจนนำมาซึ่งการที่กิจการล่มสลายขาดทุนหนักไม่อาจนำส่งงบการเงินได้หมดความสามารถในการชำระหนี้บริษัทถูกย้ายเข้ากลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงานและอยู่ในข่ายถูกเพิกถอนทำให้ผู้ถือหุ้นกว่า 3 หมื่นราย ที่ออกตัวไม่ทันต้องเดือดร้อน

การถูกตัดสินลงโทษจำคุกของศาลชั้นต้นอาจช่วยให้การต่อสู้ดิ้นรนของหมอวิชัยลดความชอบธรรมลงแต่ผลดีสำหรับ IFEC ที่ต้องรอให้ผู้บริหาร IFEC ชุดใหม่นำโดยนายทวิช เตชะนาวากุล ดำเนินการฟื้นฟูการดำเนินงานสำเร็จยังคงไม่ชัดเจนว่าจะบรรลุหรือไม่มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้คือวิบากกรรมที่บรรดาผู้ถือหุ้น IFEC ที่ถูกสั่งพักการซื้อขายมากว่า 2 ปี ต้องจำทนไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากแช่งชักหักกระดูก “คู่หูดูโอ้” ฆ่าเวลาไปพลาง ๆ

Back to top button