เพียงแค่เศษเสี้ยว “มหาธีร์”

การประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา ชวนให้ฉุกคิดว่า เราอยากมีผู้นำแบบไหน ?


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

การประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา ชวนให้ฉุกคิดว่า เราอยากมีผู้นำแบบไหน ?

มีกระแสในโลกโซเชียลที่พูดถึงการทำหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเจ้าภาพการประชุมอาเซียนกันอย่างเกรียวกราว หลังจากที่ เมย์ หว่อง ผู้สื่อข่าวอาวุโสของชาแนลนิวส์เอเชีย สิงคโปร์ ได้ทวีตเล่าปัญหาในการทำข่าวการประชุมอาเซียนในกรุงเทพฯ ว่า มันอยู่ตรงที่ว่านายกฯ ประยุทธ์ พูดภาษาไทย ในการประชุม และนักข่าวต่างชาติทั้งหมดที่อยู่ในห้องสื่อมวลชน ก็ไม่เข้าใจว่าท่านพูดอะไร เพราะไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ  เธอจึงได้ยินแค่ว่า “RCEP” กับ “ASEAN”

มันก็ใช่ที่เราจะแถว่าเพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราจึงพูดอังกฤษไม่เก่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่จะเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” แล้ว มันถึงเวลาหรือยังที่ผู้นำก็ต้องปรับตัวเองให้ทัดเทียมชาติอื่น ๆ

ในโลกยุคไร้พรมแดน ผู้นำที่ใช้ภาษาสากลได้ (พอประมาณก็ยังดี) ก็น่าจะสง่างามและดีกว่ามาก แต่การพูดภาษาอังกฤษได้เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลาย ๆ คุณสมบัติที่ผู้นำในยุคนี้ควรจะมี  เช่น ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง  วิสัยทัศน์ มุมมอง ความเป็นผู้นำ ความหนักแน่น ความขยัน ความอดทน ความใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น เป็นต้น

บังเอิญว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัดของมาเลเซีย มันก็เลยอดคิดไม่ได้ว่า เพราะมาเลเซียมีผู้นำแบบมหาธีร์นี่แหละประเทศเขาจึงก้าวหน้าไปเร็วมาก

ในขณะที่จีนและสหรัฐฯ กำลังแย่งกันมีอิทธิพลในเอเชียและได้ทำสงครามการค้ากันอย่างดุเดือดจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลก มีผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยคนมากที่จะออกมาแสดงความเห็นต่อการทำสงครามการค้าของจีนและสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนเหมือนมหาธีร์

นายกรัฐมนตรีวัย 93 ปี ของมาเลเซียวิจารณ์การกระทำของสหรัฐฯ ว่าหาทางเผชิญหน้ากับจีนทั้งในด้านการค้าและความมั่นคง และในขณะที่หลายประเทศกำลังพยายามพิจารณาคำเตือนของสหรัฐฯ ที่ว่าเทคโนโลยีของ “หัวเหว่ย” ไม่สามารถไว้วางใจได้ มหาธีร์กลับพูดชัดว่า มาเลเซียไม่สงสัยในเรื่องนี้และจะพยายามใช้เทคโนโลยีของ “หัวเหว่ย” ให้มากเท่าที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมรับว่า ชาติตะวันออกก็มีขีดความสามารถเช่นกัน

ตามความเห็นของมหาธีร์การกดดันหัวเหว่ยของสหรัฐฯ และการส่งเรือรบไปยังทะเลจีนใต้ แสดงให้เห็นจึงจุดอ่อนและการกระทำเหล่านั้นชี้ว่าสหรัฐฯ ต้องการแข่งขันกับจีนมากกว่าที่จะเผชิญหน้า และยังกล้าบอกให้สหรัฐฯ ยอมรับว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นประเทศสำคัญสุดในโลกที่สามารถมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกได้ตลอดไป อีกทั้งยังบอกว่า การเติบโตของจีนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

ความเห็นเหล่านี้ของมหาธีร์อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่สิ่งที่เขาพูดมันแสดงให้เห็นถึงความคิด ความเป็นตัวเองและความกล้าที่จะแสดงจุดยืน ซึ่งไม่แตกต่างจากเมื่อยี่สิบปีก่อนที่เขาได้วิจารณ์ชาติตะวันตกมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540-41

ในตอนนั้น มาเลเซียหลีกเลี่ยงที่จะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แต่ใช้วิธีควบคุมเงินทุนแทน ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศไทย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ต่างขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ  มาตรการควบคุมเงินทุนของมหาธีร์ในตอนนั้น ในเวลาต่อมาได้มีการยอมรับแม้แต่จากไอเอ็มเอฟว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาเงินทุนไหลออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงปี พ.ศ.2523-2532 มหาธีร์ประกาศว่าจะทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ.2563 และเขายังได้รับเครดิตว่าได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตอย่างน่าประทับใจ นอกจากนี้ยังได้รับการชื่นชมในญี่ปุ่นนับตั้งแต่ได้ ริเริ่มนโยบาย “Look East Policy” เมื่อปี พ.ศ. 2525 ซึ่งได้เรียกร้องให้มาเลเซียหลีกเลี่ยงโมเดลในการพัฒนาแบบตะวันตก และหาแนวทางใกล้บ้านมากขึ้น

ในการกลับมาบริหารประเทศรอบนี้ มหาธีร์ยังประกาศชัดเจนว่าจะขอทำงานเพียงแค่ 3 ปี ซึ่งน้อยมากที่จะมีผู้นำคนไหนทำกัน  ส่วนใหญ่พอได้อำนาจแล้วก็อยากอยู่ต่อทั้งนั้น  แม้แต่ลุงตู่ที่แต่งเพลงบอก “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่สุดท้ายก็ยังพยายามทำทุกวิธีทางให้ได้เป็นนายกฯ ต่อ

…ประเทศไทยคงจะโชติช่วงชัชวาลย์มากกว่านี้ถ้ามีผู้นำที่เก่งและแน่จริง สักเศษเสี้ยวของ“มหาธีร์”

Back to top button