แบงก์ชาติ VS บาทแข็ง

การแข็งค่าของเงินบาท กลับกลายเป็นความกังวลขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อทำสถิติใหม่แข็งค่าสุดรอบ 6 ปี หลังจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่า 4.5% ยิ่งกว่านั้น 6 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่า 6.5% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า จะมีมาตรการสกัดกั้นหรือหยุดการแข็งค่าของเงินบาทออกมาอย่างไรหรือไม่..!


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

การแข็งค่าของเงินบาท กลับกลายเป็นความกังวลขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อทำสถิติใหม่แข็งค่าสุดรอบ 6 ปี หลังจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่า 4.5% ยิ่งกว่านั้น 6 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่า 6.5% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า จะมีมาตรการสกัดกั้นหรือหยุดการแข็งค่าของเงินบาทออกมาอย่างไรหรือไม่..!

สถานการณ์ “เงินบาทแข็ง” ช่วงนี้ มีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับช่วงปี 2549 นั่นคือ เม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาทำกำไรในตลาดหุ้นและตลาดเงินอย่างมีนัยสำคัญ..

ใน “ตลาดหุ้น” มีการทำกำไรทั้งส่วนต่างราคาหุ้นและเก็งกำไรจากเงินบาทแข็งตัว ส่วน “ตลาดพันธบัตร” มีเงินทุนต่างชาติ แห่นำเงินเข้ามาพักในตลาดพันธบัตร ด้วยผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตลาดสหรัฐและยุโรป จึงเป็นเหตุจูงใจให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง..!!

ขณะที่บทบาทแบงก์ชาติ เป็นไปในลักษณะ “ตั้งรับมากกว่ารุก” ด้วยการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง แม้ไม่มีการประกาศโดยตรงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท แต่วิธีการนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2560

โดยแบงก์ชาติใช้การลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มาเป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้าและลดแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทย เป็นที่พักเงินช่วงเวลาที่ตลาดเงินและตลาดทุนโลกเกิดความผันผวนดังเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้..!!

การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น ช่วงเดือนก.ค. 62 จะมีการปรับลดลง ทั้งในส่วนของพันธบัตรธปท.ระยะสั้น อายุ 3 เดือน พันธบัตรธปท.ระยะสั้น อายุ 6 เดือน และพันธบัตรธปท.อายุ 1 ปี โดยวงเงินการออกพันธบัตรธปท.ระยะสั้น 3 เดือน และ 6 เดือน ปรับลงประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ส่วนวงเงินการออกพันธบัตรธปท.อายุ 1 ปี ปรับลดลง 10,000 ล้านบาท

นี่ถือเป็นแค่เพียงมาตรการเบื้องต้นในการกำกับดูแลค่าเงินบาทเท่านั้น..

แต่ด้วยบริบทเงินบาทที่แข็งค่าอยู่เช่นนี้..ทำให้มีความกังวลกันว่า..ธปท.อาจมีความจำเป็นถึงขั้นนำ “มาตรการกันสำรองเงินทุนจากต่างประเทศ” หรือที่รู้จักกันว่า “มาตรการกันสำรอง 30%” ออกมาใช้อีกครั้งหรือไม่..!??

หากย้อนไปเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 ธ.ค. 49 สมัยรัฐบาลขิงแก่ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี) มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธปท.นั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยธปท.มีการออกประกาศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ว่าด้วยเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 6) สาระสำคัญอยู่ที่“กำหนดให้มีการกันสำรองเงินตราต่างประเทศที่นำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไว้ 30%”

ต่อมาเช้าวันที่ 19 ธ.ค. 49  เกิดแรงแพนิกเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างหนัก ส่งผลทำให้ดัชนีหุ้นไทยติดลบ 108 จุด ถือเป็นการปรับตัวลงแรงสุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียว จนเป็นที่มาของคำว่า “อุ๋ย 100 จุด” เกิดขึ้นโดยทันที..!!

ในเชิงผลลัพธ์การแก้ปัญหา “เงินบาทแข็งค่า” ถือเป็นยาแรง..ที่ทำให้ “เงินบาทอ่อนค่า” ได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่เช่นนี้ ทำให้ “มาตรการกันสำรอง 30%” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง แม้จะเชื่อว่าธปท.จะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาบังคับใช้อีกก็ตาม..!?

Back to top button