สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 ก.ค. 2562

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 ก.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ที่ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยให้ตลาดดีดตัวขึ้นหลังจากที่ร่วงลงในช่วงแรก อันเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึง เน็ตฟลิกซ์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,222.97 จุด เพิ่มขึ้น 3.12 จุด หรือ +0.01% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,995.11 จุด เพิ่มขึ้น 10.69 จุด หรือ +0.36% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,207.24 จุด เพิ่มขึ้น 22.04 จุด หรือ +0.27%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกดดันตลาด หลังจากบริษัทเอสเอพี ซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์ของเยอรมนี เปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2/2562 ลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังมีรายงานข่าวว่า การเจรจาหยุดชะงักในประเด็นที่เกี่ยวกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.22% ปิดที่ 386.80 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,550.55 จุด ลดลง 21.16 จุด หรือ -0.38% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,227.85 จุด ลดลง 113.18 จุด หรือ -0.92% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,493.09 จุด ลดลง 42.37 จุด หรือ -0.56%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) เนื่องจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกดดันหุ้นกลุ่มส่งออก และนักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่หยุดชะงักเกี่ยวกับประเด็นบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,493.09 จุด ลดลง 42.37 จุด หรือ -0.56%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงน้อยกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ฉุดสัญญาน้ำมันดิบปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน และยังได้บดบังปัจจัยบวกรายงานข่าวที่ว่า อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซก็ตาม

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 1.48 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 55.30 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.73 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 61.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.ปีนี้

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) หลังจากสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับราคาทองคำ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พิ่มขึ้น 4.80 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 1,428.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2556

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 22.7 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 16.198 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 849.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 31.30 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 1,511.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริง

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.51 เยน จากระดับ 108.09 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9832 ฟรังก์ จากระดับ 0.9870 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ  1.3045 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3041 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1266 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1222 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2538 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2436 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7066 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7015 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button