สัญญาณร้าย..ตัวเลขส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขการส่งออกของไทย ช่วงเดือนมิถุนายนปี 2562 ติดลบ 2.1% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อหักการส่งออกทองคำออกไป กลับกลายเป็นว่าส่งออกไทยติดลบ 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา..! และหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าส่งออกของไทย ถือว่าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แล้ว


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขการส่งออกของไทย ช่วงเดือนมิถุนายนปี 2562 ติดลบ 2.1% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อหักการส่งออกทองคำออกไป กลับกลายเป็นว่าส่งออกไทยติดลบ 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา..! และหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าส่งออกของไทย ถือว่าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แล้ว

นั่นทำให้ช่วงครึ่งแรกปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยติดลบที่ 4.4%..!!??

สินค้าสำคัญที่มีการหดตัวเป็นสินค้าที่เกี่ยวโยงกับการผลิตสินค้าส่งออกของจีน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อาทิ คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบ 15.5%, เคมีภัณฑ์และพลาสติก ติดลบ 19.3% และแผงวงจรไฟฟ้า ติดลบ 20.6%

ส่วนสินค้าส่งออกอื่น ๆ ที่หดตัว เช่น ข้าว เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าสำคัญ ที่มีการขยายตัวช่วงเดือนมิ.ย.นั่นคือ “ยางพารา” ที่ส่งออกเติบโต 11.8% จากการส่งออกยางพาราไปยังตลาดจีนและสหรัฐฯ

ที่น่าเป็นห่วง คือ ตัวเลขการส่งออกของไทย มีการหดตัวเกือบทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนหดตัว14.9% และการส่งออกไป CLMV หดตัว 9.3% ประกอบด้วย 1) กัมพูชา หดตัวมากจากการส่งออกจักรยานยนต์ 2) สปป.ลาว หดตัวมาก จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 3) สหภาพเมียนมา หดตัวมากจากการส่งออกเครื่องจักร 4) เวียดนาม หดตัวลงมากจากการส่งออกเม็ดพลาสติก

แต่การส่งออกไปอินเดีย มีการขยายตัว 8.1% โดยตัวเลขดุลการค้าเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ดุลการค้าของไทย ยังเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สาเหตุทำให้การส่งออกลดลง  เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าล็อตสอง ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 25% คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ

มีการประเมินว่าไตรมาส 3/62 มูลค่าการส่งออกยังติดลบ เหตุได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่ ประกอบกับช่วงเดือนมิ.ย.62 การนำเข้าลดลง 9.4% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน 11.3% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 5.2% จึงทำให้มีผลกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออกได้เช่นกัน

ด้วยตัวเลขการส่งออกหดตัวต่อเนื่องทำให้ GDP ไตรมาส 2/62 มีแนวโน้มชะลอตัว จากไตรมาส 1/62 นั่นสะท้อนว่าสถานการณ์ส่งออกไม่ดีขึ้นเลย แต่ที่น่าเป็นห่วง..นั่นคือการหดตัวของตัวเลขส่งออก เริ่มกระจายสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การชะลอลงของกลุ่มท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน จึงตอกย้ำว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 2/62 ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่จึงเป็น “สัญญาณอันตราย” อันน่าสะพรึงกลัวเลยทีเดียว..!!!??

Back to top button