นิทานอาหรับราตรี 2558พลวัต2015

ผู้สื่อข่าวเยอรมันที่มีอารมณ์ขันรายหนึ่ง เขียนรายงานเปรียบเทียบการเจรจาอันยืดเยื้อของนายกรัฐมนตรีกรีซกับผู้นำยุโรป 18 ชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ต่อเนื่องถึงวันจันทร์ที่จบสิ้นลงว่า ไม่ต่างอะไรกับนิทานอาหรับราตรีเรื่องหนึ่งที่ หญิงสาวร่ำรวยคนหนึ่ง ทุกเช้าจะต้องนำสุนัขตัวหนึ่งมาเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง จนครบที่กำหนดไว้ จากนั้นเธอก็ก้มหน้าฟุบกับฝ่ามือ ร้องไห้โหยหวน ด้วยความสงสารสุนัขดังกล่าว เพราะเหตุว่า สุนัขดังกล่าวคือ พี่สาวของเธอที่ถูกพ่อมดสาปให้กลายเป็นสุนัขเพราะทรยศต่อเธอเพื่อชดใช้บาปของหล่อน


ผู้สื่อข่าวเยอรมันที่มีอารมณ์ขันรายหนึ่ง เขียนรายงานเปรียบเทียบการเจรจาอันยืดเยื้อของนายกรัฐมนตรีกรีซกับผู้นำยุโรป 18 ชาติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ต่อเนื่องถึงวันจันทร์ที่จบสิ้นลงว่า ไม่ต่างอะไรกับนิทานอาหรับราตรีเรื่องหนึ่งที่ หญิงสาวร่ำรวยคนหนึ่ง ทุกเช้าจะต้องนำสุนัขตัวหนึ่งมาเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง จนครบที่กำหนดไว้ จากนั้นเธอก็ก้มหน้าฟุบกับฝ่ามือ ร้องไห้โหยหวน ด้วยความสงสารสุนัขดังกล่าว เพราะเหตุว่า สุนัขดังกล่าวคือ พี่สาวของเธอที่ถูกพ่อมดสาปให้กลายเป็นสุนัขเพราะทรยศต่อเธอเพื่อชดใช้บาปของหล่อน

ผู้สื่อข่าวดังกล่าว ระบุเชิงเปรียบเทียบว่า จากนี้ไป หญิงสาวผู้นั้นคือ นางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประชาชนชาวกรีกนั่นเอง

การเปรียบเทียบดังกล่าวค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร เพราะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงปฏิบัติการที่คนกรีกเรียกว่า “กดหัวจมน้ำ”  (waterboarding) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานนักโทษที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเจ้าหนี้ยุโรปพากันสุมหัวกันเล่นงานนายกรัฐมนตรีกรีซจนดิ้นไม่หลุด ต้องยอมรับสภาพโดยดุษณี

ภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจของกรีซเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะตัวเลขหนี้ล่าสุดที่มากถึง 200% ของจีดีพี ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมเจ็บปวดมากกว่าเดิม สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ กรีซจะฟื้นตัวได้อย่างไร ในเมื่อได้สูญเสียอธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจไปหมดแล้ว

ข้อเสนอ 5 ข้อของเยอรมนี ที่ได้รับการหนุนหลังโดยหลายชาติเจ้าหนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งที่สะท้อนถึงการสูญเสียอธิปไตยที่รุนแรงสุดคือ การตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อรับเอาหลักทรัพย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของกรีซเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เงินกู้ วันไหนที่กรีซไม่มีปัญญาชำระหนี้ จะเปิดช่องให้กองทุนดังกล่าวขายทรัพย์สินทอดตลาดออกไปเพื่อชำระหนี้

แม้กรีซจะยอมรับข้อเสนอดังกล่าวในการเจรจา และจำต้องไปผลักดันเรื่องนี้ในรัฐสภาของเอเธนส์ คำถามก็คือ คนกรีกยอมรับได้หรือไม่ ที่จะต้องสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับความอยู่รอด

คำพูดของประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ว่า ข้อตกลงที่ผ่านความเห็นชอบของการเจรจาในวันจันทร์นั้น เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นในการช่วยเหลือกรีซ โดยใช้วงเงิน 2.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อเพิ่มทุนแก่ธนาคารต่างๆ ของกรีซ โดยอ้างคำพูดแบบนักการทูตว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-เยอรมนีนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้มีการประนีประนอมที่นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซจะมีขึ้น และจะเป็นผลดีสำหรับทั้งกรีซ กลุ่มเจ้าหนี้ และทั้งภูมิภาค เนื่องจากกรีซเป็นหัวใจสำคัญของยุโรป ซึ่งหากไม่มีการบรรลุข้อตกลงกับกรีซจนบีบให้กรีซต้องพ้นจากยูโรโซนจริงๆ แล้ว ยุโรปก็จะสูญเสียความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไปทีละน้อย

นอกเหนือจากเงินกู้ดังกล่าวในระยะสั้น ยังมีแผนการอนุมัติเงินกู้งวดใหม่จำนวน 8.6 หมื่นล้านยูโร  (9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับกรีซ ตราบใดที่รัฐบาลของนายอเล็กซิส ซีปราสจะยังคงดำเนินการมาตรการรัดเข็มขัดในเร็วๆ นี้

คำพูดของนายกรัฐมนตรีกรีซที่ว่าข้อตกลงดังกล่าวค่อนข้างจะลำบาก เพราะมาตรการที่ฝ่ายเจ้าหนี้เรียกร้องอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยด้านเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้นเป็นข้อเท็จจริงที่อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การช่วยเหลือ หรือการครอบงำกันแน่ที่กรีซได้รับจากเจ้าหนี้ยุโรปด้วยกัน

หากพิจารณาโดยสาระสำคัญ การครอบงำของเจ้าหนี้ยุโรป คือจุดเริ่มต้นการสิ้นสุด นโยบายรัฐสวัสดิการที่เอาใจพนักงานของรัฐที่กรีซดำเนินมาอย่างจริงจัง

ในมุมมองของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นโยบายรัฐสวัสดิการที่มากเกินขนาดของกรีซ คือรากเหง้าความอ่อนแอของหน่วยงานรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เงินค่าใช้จ่ายเฉพาะบำนาญแต่ละปีของประเทศ มีสัดส่วนมากถึง 16% ของจีดีพี โดยที่อัตราถัวเฉลี่ยของเงินบำนาญเท่ากับ 96% ของเงินเดือนสุดท้ายของพนักงานรัฐแต่ละคน

โดยข้อเท็จจริง อาจจะเป็นเช่นนั้น ภาระที่รัฐบาลกรีซแบกไว้จากนโยบายรัฐสวัสดิการเป็นที่มาของการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง และด้วยการตบแต่งบัญชีให้สวยหรูเกินจริง ด้วยความร่วมมือของบริษัทบัญชีระดับโลกบางแห่ง เพื่อให้ดูหนี้สาธารณะต่ำเกินจริงเมื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และทำให้กรีซขาดดุลงบประมาณเรื้อรังเฉลี่ยปีละถึง 12.7% มากกว่า 4 เท่าของข้อตกลงสนธิสัญญามาสทริชท์ และมีหนี้สิน 150% ของจีดีพี เป็นปัญหา ดินพอกหางหมู” เรื้อรัง จนยากจะแก้ไข

การยอมรับสภาพหนี้ 2.7 แสนล้านยูโรของรัฐบาลกรีซกับเจ้าหนี้ที่เรียกว่า ทรอยก้า เมื่อ 4 ปีก่อน เป็นการสื่อสารด้านกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาด เพราะเจ้าหนี้ทรอยก้า เชื่อว่าจะสามารถทำให้กรีซหันมาเดินแนวทางทุนนิยมตามที่กำหนดเอาไว้ของยูโรโซนได้ ในขณะที่รัฐบาลกรีซ และคนกรีกกลับคิดอีกแบบหนึ่งและครั้งนี้ก็อาจจะเป็นความผิดพลาดซ้ำซากอีกได้

ครั้งนี้ ชาติยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศอาจจะเชื่อว่า จะทำให้ฐานะและบทบาทของรัฐสวัสดิการถูกลบความทรงจำไปจากชาวกรีกในอนาคตแต่พวกเขาอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของนิทานอาหรับราตรีรุ่นใหม่แบบที่ผู้สื่อข่าวเยอรมันเปรียบเทียบเอาไว้ แต่มันกลายเป็นฝันร้ายที่จะหลอกหลอนชาวกรีกไปอีกยาวนาน

อารมณ์ร่วมของความรู้สึกเอกราชและอธิปไตยที่ชาวกรีกเคยมีมายาวนานนับแต่ต่อสู้กู้เอกราชจากอาณาจักรออตโตมันและตุรกีอันยาวนานเมื่อศตวรรษก่อน จะปะทุมาใหม่ได้จากการครอบงำเบ็ดเสร็จครั้งนี้ของยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เว้นเสียแต่ว่าชาวกรีกยุคร่วมสมัยนี้ จะสอบตกประวัติศาสตร์กันหมด

Back to top button