‘โจรใต้’ ไม่มีวันจบ

ใครวางระเบิดป่วนเมืองยังไม่ทราบ แต่ ส.ส.พลังประชารัฐชี้หน้าทักษิณอีกแล้วไง ผบ.ทบ.ยังไม่ทันรู้ข้อมูลก็ออฟไซด์ ลักษณะการก่อเหตุคล้ายปี 2549 กลุ่มคนเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ สำนักเดิม ๆ


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ใครวางระเบิดป่วนเมืองยังไม่ทราบ แต่ ส.ส.พลังประชารัฐชี้หน้าทักษิณอีกแล้วไง ผบ.ทบ.ยังไม่ทันรู้ข้อมูลก็ออฟไซด์ ลักษณะการก่อเหตุคล้ายปี 2549 กลุ่มคนเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ สำนักเดิม ๆ

กระทั่งนายกฯ ก็ชี้ว่ามีหลายอย่างเชื่อมโยงกลุ่มเก่า ๆ ถ้ายังมีคนไม่ดีในประเทศ จะเกิดเหตุขึ้นอีก

สรุปคือท่านเป็นคนดี ประชาชนต้องสนับสนุน แล้วจะไม่มีระเบิด ใครวางระเบิดก็ไม่ทราบ แต่รัฐบาลและกองทัพรีบฉวยประโยชน์ทางการเมือง ดึงประชาชนไปสนับสนุนให้กำลังใจรัฐบาล พร้อมตั้งแง่ฝ่ายตรงข้าม

แต่เรื่องขำ ๆ คือพอมีข่าวผู้ต้องสงสัย 2 คน สารภาพว่าทำเพราะแค้นกองทัพภาคที่ 4 ที่คุมตัวแนวร่วมไปสอบสวนและเสียชีวิตในค่ายทหาร ทั้งโฆษกรัฐบาลและแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ปฏิเสธทันควัน ว่าอย่าด่วนสรุป

ในแง่หนึ่งท่านพูดถูก อย่าด่วนสรุป 2 คนนั้นต้องสงสัยว่าวางระเบิดปลอมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสบดี แต่เหตุระเบิดเช้าวันศุกร์ น่าจะวางหลังจากพวกเขาถูกจับแล้ว ก็น่าสงสัยว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือกลุ่มอื่นสวมรอย

แต่อีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าใครจะวางระเบิดก็ตาม ถามว่า “ความแค้นกองทัพภาคที่ 4” มีจริงหรือไม่ ในกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ สมองตายระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร

เข้าใจกันก่อนนะ สื่ออย่าด่วนสรุปว่าเขาเป็น “แนวร่วมโจร” ชายแดนใต้ใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มายาวนาน 15 ปี ทหารสงสัยใคร ก็มีอำนาจตรวจค้นคุมตัวไปสอบสวน โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐาน ไม่ต้องขอหมายศาล ไม่มีสิทธิขอทนายความ ไม่มีใครอยู่ด้วยระหว่างสอบสวนในค่ายทหาร

ดังนั้น เมื่ออับดุลเลาะวัย 32 ร่างกายแข็งแรง ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมคุมตัวเข้าค่ายเมื่อ 18.00 น. โดยเขายอมไปด้วยแต่โดยดี แล้วญาติมารู้ตอนเช้า 9.00 น.ว่าสมองตายเข้าไอซียู ต่อให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีพันปากหมื่นปาก ยืนกระต่ายขาเดียวว่าทหารไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ลองคิดดู ว่าประชาชนในพื้นที่จะคิดอย่างไร และจะ “เข้าทาง” ผู้ก่อความไม่สงบไหม

ใครว่าไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อให้พิสูจน์ว่าทหารไม่ได้ซ้อม ตัวกฎหมายพิเศษนั้นก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้ามกระบวนการยุติธรรม กระทั่ง ส.ส. 3 จังหวัดใต้ ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน เปิดแถลงร่วมกัน เรียกร้องให้ทบทวนการใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

5 ปีใต้รัฐประหาร ใครว่าสถานการณ์ดีขึ้น ด้านการทหารอาจเข้มข้น แต่ทางการเมือง กลับสั่งสมความไม่พอใจ เช่น ตรวจเก็บ DNA ผู้เข้าเกณฑ์ทหาร ซึ่งทำเฉพาะ 3 จังหวัด แต่อ้างว่าสมัครใจให้ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ซึ่งทำเฉพาะ 3 จังหวัด โดย กอ.รมน. บอกว่าไม่ได้บังคับ ไม่ลงทะเบียนก็ได้ แค่ไม่ต้องใช้โทรศัพท์

รัฐบาลจึงไม่อยากให้ด่วนสรุป เพราะเดี๋ยวจะสรุปว่าแก้ปัญหา 3 จังหวัดใต้ไม่ได้ผล ทั้งที่ละเลงงบทหารมโหฬาร

ปัญหา 3 จังหวัดใต้ มีลักษณะร่วมกับปัญหาทั้งประเทศ คืออยู่ภายใต้อำนาจบังคับของรัฐราชการอนุรักษนิยม รัฐชาตินิยม อำนาจนิยม เพียงมีความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ชาติพันธุ์ จนทำให้คนจำนวนหนึ่งตอบโต้ด้วยความรุนแรงสุดโต่ง

เพียงยังดีที่คนส่วนใหญ่ แม้ไม่พอใจรัฐ ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอย่างนั้น แต่รัฐก็ไม่เคยหยุดยั้งการใช้อำนาจบังคับ ที่ผลักให้คนโกรธแค้น และเข้าไปร่วมขบวนการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

 

Back to top button