CPF ปักธง H2/62 กลับมาโตเด่นรับราคาหมูในเวียดนาม-จีนฟื้น ย้ำเป้ายอดขายปีนี้โต 10%

CPF ปักธง H2/62 กลับมาโตเด่นรับราคาหมูในเวียดนาม-จีนฟื้น ย้ำเป้ายอดขายปีนี้โต 10%


นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลัง 62 จะพลิกกลับมาเติบโตได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังจากครึ่งปีแรกผลประกอบการของบริษัทได้รับแรงกดดันมีบันทึกค่าใช้จ่ายตั้งสำรองกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ 1.8 พันล้านบาท และบันทึกผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากธุรกิจบริษัทสัดส่วนเกือบ 70% ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงทางบัญชีเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่นับรวมผลกระทบดังกล่าว ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทจะมีกำไรประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่ได้รายงานกำไรสุทธิ 8,384 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยบวกที่จะเข้ามาผลักดันผลประกอบการในครึ่งปีหลังมาจากราคาหมูในประเทศเวียดนามและจีนกลับมาฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าคาด จากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) โดยน่าจะเห็นผลบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป ขณะที่ราคาหมูและไก่ในประเทศยังคงทรงตัวในระดับสูง ทำให้คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทั้งปีนี้อาจมากกว่า 14% สูงกว่าปี 61 ที่อยู่ระดับ 10%

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า แนวโน้มยอดขายในครึ่งปีหลังคาดจะเติบโตต่อเนื่อง และอาจจะสูงกว่าในครึ่งปีแรก ทำให้บริษัทยังคงเป้ายอดขายโดยรวมปีนี้ไว้ที่ 10% ไม่นับรวมกับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าพิจารณาจากรายได้ครึ่งปีแรกถ้าหากไม่นับผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่ายอดขายโดยรวมจะเติบโต 5-6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ราคาหมูจะดีต่อเนื่องอย่างน้อย 4-5 ปี เพราะปัจจุบันโรคระบาด ASF ยังไม่มีวัคซีนรักษาให้หายขาดได้ ทำให้ปริมาณหมูในตลาดน้อยกว่าความต้องการในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ CPF มีการเลี้ยงรูปแบบฟาร์มปิด ซึ่งกว่าปริมาณหมูจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ทำให้ CPF ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาดังกล่าว”นายประสิทธิ์ กล่าว

ส่วนปัญหาความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน บริษัทเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตธุรกิจในจีนก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จำหน่ายภายในประเทศ ล่าสุดยอดกำลังซื้อผู้บริโภคในจีนยังคงเติบโตได้ดี และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาขยายกำลังการผลิตในธุรกิจประเภท Food เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีธุรกิจครบวงจรทั้ง Feed และ Farm ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนแต่ละปีไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้น R&D และขยายธุรกิจที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าหลัก

ด้านความคืบหน้าของการเข้าซื้อกิจการที่ทางบริษัทได้ให้ CPF Canada Holdings Corp. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทได้ลงนามทำสัญญาซื้อหุ้นทั้งหมดของ HyLife Investments Ltd. หรือ HIL ซึ่งถือหุ้น HyLife GroupHoldings Ltd. หรือHyLife ในสัดส่วน 50.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด HyLife มูลค่า 498 ล้านเหรียญแคนดาหรือประมาณ 11,845 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ หลังจากอยู่ระหว่างดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับข้อกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับทางการของแคนนาดา

ทั้งนี้ HyLife มีสำนักงานอยู่ที่ LaBroquerie รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา ประกอบธุรกิจสุกรครบวงจรตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงงานแปรูปเนื้อสุกร ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสุกร ปัจจุบันกลุ่ม HyLife มีโรงงานแปรรูปจำนวน 3 โรงงาน ตั้งอยู่ที่แคนาดา 1 โรงงาน ประเทศเม็กซิโก 2 โรงงาน จากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีผู้ร่วมทุนที่แข็งแกร่งอย่าง Itochu Corporation ทำให้HyLife เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสุกรแช่เย็นจากประเทศแคนาดาไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยม

Back to top button