ส่องตัวเลขสำรอง “TFRS9” กลุ่มแบงก์จ่อบุ๊กกลับต้นปีหน้า-Valuation หุ้นถูก!

ส่องตัวเลขสำรอง “TFRS9” กลุ่มแบงก์จ่อบุ๊กกลับต้นปีหน้า-Valuation หุ้นถูก!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในภาวะดัชนีผันผวน เนื่องจากหุ้นในกลุ่มหลักๆ ยังมีปัจจัยกดดัน อาทิ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มจำหน่ายเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารยังเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยหนุนจากเรื่องการทยอยนำสำรองส่วนเกินหลังใช้ IFRS9 มาทยอยกลับรายการเป็นกำไรได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงจนต่ำกว่าพื้นฐาน

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า อาจเห็นแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงแรง แต่ฝ่ายวิจัยเห็นว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะหนุนให้ราคายืนระดับสูงต่อไปได้ แต่อีกทางหนึ่งก็มีแรงหนุนจากกลุ่มธนาคารฯ จากการที่ให้ทยอยนำสำรองส่วนเกินหลังใช้ IFRS9 มาทยอยกลับรายการเป็นกำไรได้ คาด SET Index น่าจะผันผวนในกรอบที่ไม่กว้าง หุ้น Top Pick เช้านี้เลือก CK(FV@B 34) จากสัญญาณเชิงบวกหลังรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งเครื่องการลงทุน

TFRS9 ไม่บวกมาก … แต่ Valuation กลุ่ม ธ.พ. ถูกมาก

ประเด็นความคาดหวังเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเงินสำรองส่วนเกิน (general reserves) ที่ ธ.พ.มีอยู่รวมกันกว่า 3.52 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2/62 โดยเฉพาะ ธ.พ.ใหญ่ ได้แก่ BBL (9.40 หมื่นล้านบาท) KBANK (8.28 หมื่นล้านบาท) KTB (6.53 หมื่นล้านบาท) SCB (5.44 หมื่นล้านบาท) และ BAY (2.27 หมื่นล้านบาท) ที่มีสำรองส่วนเกินเป็นจำนวนมาก โดยแนวทางที่ ธปท. กำหนดให้คือหาก ธ.พ.มีปริมาณสำรองหนี้ฯ (Allowances) สูงกว่าเงินสำรองที่ต้องกันตามเกณฑ์ TFRS9 ณ วันแรกที่เริ่มใช้คือ 1 ม.ค.63 ให้สามารถทยอยลดสำรองส่วนเกิน ณ วันแรก ตามวิธีเส้นตรงเป็นเวลา 5 ปี (ปีละ 20%) โดยให้แสดงเป็นยอดสุทธิสำหรับปริมาณสำรองที่ตั้งเพิ่มและปริมาณสำรองที่สามารถโอนกลับได้

สำหรับผลกระทบคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ต้องตั้งเพิ่ม (credit cost) ในแต่ละปีไปได้บ้างแต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าไม่ได้มีนัยฯ ต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มฯ  ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการสำรองส่วนเกินที่ฝ่ายวิจัยได้รับจาก ธ.พ.ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา คือ  พยายามจัดชั้นสินเชื่อที่มีปัญหาเป็น NPL สำหรับกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงไปเลย (qualitative NPL) หรือกันสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินเชื่อจัดชั้น special mention loan (ค้างชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน) เนื่องจากเมื่อบังคับใช้เกณฑ์ TFRS9 กลุ่มสินเชื่อเหล่านี้ เทียบเท่าสินเชื่อ NPL อยู่ดี ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ NPL ของกลุ่ม ธ.พ.เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วยจากผลกระทบเรื่องนี้ ดังนั้น ปริมาณสำรองส่วนเกินที่แสดง ณ สิ้น 2Q62 อาจมีแนวโน้มลดลงมากจากปัจจุบัน โดยเฉพาะ ธ.พ.ที่มีสินเชื่อจัดชั้น special mention loan ระดับสูงทั้ง BBL, KBANK, KTB, SCB

ทั้งนี้ คงน้ำหนักน้อยกว่าตลาดสำหรับกลุ่ม ธ.พ. จาก 1) ทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 ที่คาดไม่สดใส นอกจากผลกระทบจาก NIM ที่อ่อนตัวลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ในเดือน ส.ค.62 โดยไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยังเห็นผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตของ บ.ย่อย ได้แก่ KBANK (MTL) และ SCB (SCBLife) ที่คาดแสดงผลขาดทุนมหาศาลจาก bond yield ระยะยาวปัจจุบันที่ลดลงมากจากสิ้นไตรมาส 2/62 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอีกในไตรมาส 4/62 ตามทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง และ 2) แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกระลอก แม้คาดหมายรอบนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย ช่วยลดผลกระทบต่อ spread ได้บ้าง แต่จะเป็น sentiment ลบต่อการลงทุนในหุ้น ธ.พ.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นกลุ่ม ธ.พ. ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนปัจจัยลบดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว และตามที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปใน Market Talk 13 ก.ย. 62 ว่า Valuation ของกลุ่ม ธ.พ. ในเชิง PBV ที่อยู่เพียง 0.92 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปีย้อนหลังและระดับต่ำสุดในปี 2559 ที่ 1.43 เท่า และ  1.03 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับเดียวกันที่ 1.50% (ดังรูปทางด้านล่าง)

สำหรับ กลยุทธ์การลงทุน ช่วงสั้นเน้นถือครองหุ้นปันผลสูง (บวกปันผลพิเศษ) ได้แก่ TCAP (ราคาเป้าหมาย 63 บาท) ส่วนหุ้น ธ.พ.ใหญ่ ที่มีการปรับฐานราคารับปัจจัยกระทบต่างๆ ไปมากแล้ว แนะทยอยซื้อ BBL (ราคาเป้าหมาย 205 บาท) ที่เห็นปันผลกว่า 4.5% p.a. และมี PBV ปี 62 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.75 เท่าซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี ราคาหุ้นมี Upside (%) สูงเกือบ 20%

Back to top button