EGCO กดสวิตซ์ COD โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา 500 MW พร้อมรับรู้รายได้ไตรมาส 4/62

EGCO กดสวิตซ์ COD โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูราในฟิลิปปินส์ ขนาดกำลังผลิต 500 MW พร้อมรับรู้รายได้ไตรมาส 4/62


บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ระบุว่า โรงไฟฟ้า SBPL ของบริษัท ซาน บัวนาเวนทูรา เพาเวอร์ จำกัด (SBPL) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ 49% และ Meralco PowerGen Corporation ถือหุ้น 51% ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้วในวันที่ 26 ก.ย.62

สำหรับโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับโรงไฟฟ้าเคซอน (QPL) ในเมืองเมาบัน จังหวัดเคซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เทคโนโลยีแบบ Supercritical ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ Manila Electric Company (Meralco) ภายใต้การอนุมัติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของฟิลิปปินส์ (ERC) จำนวน 455 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยสามารถขยายอายุสัญญาเพิ่มได้อีก 5 ปี

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา จะช่วยเพิ่มรายได้ที่แน่นอนให้แก่บริษัท โดยเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/62 เป็นต้นไป และยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

โดย นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO เปิดเผยว่า จากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ส่งผลให้ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 27 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,315 เมกะวัตต์ ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้

ขณะที่มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 331 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายประเภท ทั้งก๊าซธรรมชาติ แอลเอ็นจี ถ่านหิน ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง

“โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เอ็กโกอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ของปี 2562 เป็นต้นไป และยังช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย”นายจักษ์กริช กล่าว

Back to top button