Coca-Cola กับ “โค้กฉลากเขียว”

ยักษ์ใหญ่น้ำดำโลก Coca-Cola เปิดตัวขวดเครื่องดื่มโค้กที่ผ่านกรรมวิธี Upcycle หรือการยืดอายุวัสดุจากขยะพลาสติกคุณภาพต่ำที่เก็บได้จากชายหาด 84 แห่ง ด้วยเทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแห่งอนาคต ประเดิมขวดโค้กฉลากเขียว (จากปกติเป็นสีแดง) ล็อตแรก 300 ขวด


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ยักษ์ใหญ่น้ำดำโลก Coca-Cola เปิดตัวขวดเครื่องดื่มโค้กที่ผ่านกรรมวิธี Upcycle หรือการยืดอายุวัสดุจากขยะพลาสติกคุณภาพต่ำที่เก็บได้จากชายหาด 84 แห่ง ด้วยเทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแห่งอนาคต ประเดิมขวดโค้กฉลากเขียว (จากปกติเป็นสีแดง) ล็อตแรก 300 ขวด

“ขวดโค้กใหม่” ที่ว่านี้ผลิตจากขยะตามชายหาดและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 25% ผ่านกระบวนการแตกโพลีเมอร์เป็นโมเลกุลเล็ก ๆ เพื่อผลิตพลาสติก PET คุณภาพสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม มีกำหนดเริ่มผลิตอย่างเป็นทางการปี 2563 พร้อมตั้ง เป้าหมายว่าจะสามารถช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ประมาณ 200,000 ตันต่อปี

โดยครั้งนี้ Coca-Cola มีการร่วมมือกับ Indorama Ventures ผู้ผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์รายใหญ่ Ioniqa Technologies บริษัทเทคโนโลยีสะอาดจากเนเธอร์แลนด์ รวมถึง Mares Circulares องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับทุนจาก Coca-Cola เพื่อสร้างความตระหนัก ไม่ให้ผู้คนทิ้งขยะตามพื้นที่ธรรมชาติ และแสดงให้เห็นศักยภาพเทคโนโลยีโดยร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอนาคต

ในเชิงองค์ประกอบตามปกติแล้ว PET (polyethylene terephthalate) เป็นพลาสติกที่สามารถนำมาทำเป็นขวดบรรจุน้ำอัดลมได้ดี แบบที่เรียกว่า หาพลาสติกชนิดอื่นทดแทนได้ยาก เพราะ PET สามารถกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกได้นาน ทำให้น้ำอัดลม ซาบซ่านานเท่าอายุขัยขวดเลย

นั่นทำให้เป็น เรื่องที่ยากในการนำพลาสติก PET เก่าที่โครงสร้างบางส่วนถูกทำลายลง แถมสิ่งเจือปนมากมาย มารีไซเคิลเป็นขวดน้ำอัดลมอีกครั้ง…

ในเชิงนวัตกรรมถือเป็นการใช้เทคนิค DEMETO (DEpolymerization by MicrowavE TechnolOgy) เป็นเทคนิคที่ใช้รังสีไมโครเวฟเพื่อการ depolymerization แปลงจากขยะ PET มาเป็นหน่วยเล็ก ๆ อย่าง Ethylene glycol และ Terephthalic acid ก่อน แล้วจึงนำสารทั้งคู่นั้นมาควบแน่นกลับมาเป็น PET ตามเดิม

ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ World Without Waste ที่ต้องการใช้และจัดการบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นั่นคือ..การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100% ก่อนปี 2573

ในเชิงการตลาด Coca Cola สามารถใช้เป็น “ลูกเล่นทางการตลาด” ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้โจทย์ “ขยะพลาสติก” ด้วยเช่นกัน..!!

จึงเชื่อว่า “โค้กฉลากเขียว” จะกลายเป็นแคมเปญการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ Coca Cola จะนำหน้าคู่แข่งไปหลายขุมเลยทีเดียว..!!??

Back to top button