กำไรกลุ่มแบงก์

วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/2562 กันออกมาครบแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/2562 กันออกมาครบแล้ว

แต่ระหว่างที่เขียนต้นฉบับ

ยังขาด CIMBT ที่จะแจ้งในช่วงหลัง 17.00 น. (21 ต.ค.) เลยไม่ได้นำมาเขียนรวมด้วย

กำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์ (10 แห่ง) ไตรมาส 3/2562 รวมกันเท่ากับ 5.49 หมื่นล้านบาท

กำไรที่ว่านี้แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2561

ส่วนกำไรช่วง 9 เดือนแรก แบงก์ 10 แห่งมีกำไรรวม  1.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.60% (BAY มีกำไรพิเศษจากการขายเงินติดล้อ บันทึกในไตรมาส 2 และ SCB มีกำไรพิเศษจากขายหุ้น SCBLIFE บันทึกในไตรมาส 3)

ทว่า หากส่องเฉพาะกำไรของแบงก์ไตรมาส 3

ส่วนใหญ่จะออกมามากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้ (ไม่รวมกำไรพิเศษ)

เช่น BBL TCAP และ TMB

ราคาหุ้น BBL เมื่อวานนี้วิ่งขึ้นคึกคัก นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรกันค่อนข้างมาก

BBL เป็นหุ้นแบงก์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการตั้งการ์ดแน่นเปรี๊ยะอยู่แล้ว

เงินกองทุนเข้มแข็งมากหรือแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์หลายคนต่างมองว่า กำไร BBL ไตรมาส 3 อาจจะออกมาไม่สวย หรือลดลง 3-4% จากไตรมาส 3/2561

และนั่นทำให้ราคาหุ้น BBL ย่อตัวลงจากระดับ 180.00 บาท (25 ก.ย.) ลงมาเหลือเคลื่อนไหวบริเวณ 166.00–167.00 บาท

ปัจจุบัน BBL ยังซื้อขายกันที่ระดับราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลู (221.68 บาท) นะ

มีระดับ P/E เพียง 9 เท่า และ P/BV 0.76 เท่า เท่านั้นเอง

และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือ Dividend Yield ประมาณ 3.90%

ใครที่ชอบหุ้นขนาดใหญ่มีเงินปันผลสูง นี่จึงเป็นโอกาสที่ดี

จากการสำรวจบทวิเคราะห์ล่าสุดของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่าง ๆ 12 แห่ง พบว่า มีโบรกฯ แนะนำ “ซื้อ” BBL จำนวน 10 แห่ง และ “ถือ” 2 แห่ง

มีราคาเป้าหมายสูงสุด 250 บาท (บล.ดีบีเอสฯ)

และราคาเป้าหมายต่ำสุด 185.00 บาท

แต่เข้าใจว่า ราคาหุ้นของ BBL (และอาจรวมถึงหุ้นแบงก์ตัวอื่น ๆ) อาจจะยังไม่ได้ไปไหนไกลมากนัก

ถามว่าเพราะอะไรล่ะ..?

คำตอบคือ นักลงทุนน่าจะยังกังวลเกี่ยวกับ ธปท.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง หรือไม่

เพราะหากลดลงมาจริง ๆ

นั่นย่อมกระทบกับรายได้จากดอกเบี้ยของหุ้นแบงก์แน่ ๆ

และเรื่องนี้ผู้บริหารของ BBL ก็เคยออกมายอมรับแล้วว่า จะกระทบจริง ๆ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากระทบแค่ไหน

อีก 1 หุ้นแบงก์ที่นักลงทุนสนใจคือ ไทยพาณิชย์ หรือ SCB

กำไรไตรมาส 3 ของ SCB หากไม่รวมกำไรพิเศษ จากการขาย SCBLIFE ก็จะออกมาเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ หนี้เสีย หรือ NPL เพิ่มจาก 2.77% (ไตรมาส 2/2562) มาเป็น 3.01%

ตัวเลขหนี้เสียนี้จะว่าไปแล้ว นักวิเคราะห์เขาต่างคาดกันไว้แล้วล่ะว่าจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย

แต่นักลงทุนก็ยังเกิดความกังวลบ้างแหละ

ทำให้หุ้น SCB ถูกขายออกมา จนราคาลงมาต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี

เข้าใจว่าประเด็นกดดันราคาหุ้นของ SCB จะมีเรื่องหนี้เสียของหุ้น PACE เข้ามาด้วย รวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่อาจจะปรับลง 0.25% อีกครั้ง ก่อนสิ้นปีนี้

ราคาหุ้น SCB ที่ปรับลงอย่างหนัก

นักวิเคราะห์มองว่า สะท้อนกับเรื่องลบ ๆ มากเกินไปแล้ว

หรือราคาหุ้นนั้นตอบรับกับปัจจัยเสี่ยงไปหมดแล้ว ทำให้ต่างยังคงแนะนำ “ซื้อ” เช่นกัน หรือ “ทยอยซื้อ” สะสมเข้าพอร์ต สำหรับนักลงทุนระยะปานกลาง ไปจนถึงยาว

เหตุผลก็คือไตรมาส 4 กำไรของ SCB คาดว่าจะออกมาดีขึ้น จากค่าใช้จ่ายลดลง

และต้นปีหน้า อาจจะมีการนำสำรองส่วนเกินกลับมาเป็นรายได้และกำไรบ้าง

สรุปง่าย ๆ ราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวจากปัจจุบัน

เพียงแต่ว่าต้องถือยาวซักหน่อย แค่นั้นเอง

Back to top button