“คลัง” เผย IMF แนะไทยใช้ทุกเครื่องมือการเงิน-การคลังดูแลศก.เพื่อรับมือหลายปัจจัยเสี่ยง

"คลัง" เผย IMF แนะไทยใช้ทุกเครื่องมือการเงิน-การคลังดูแลศก.เพื่อรับมือหลายปัจจัยเสี่ยง


นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า ผู้บริหาร IMF ได้ร่วมหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของโลกและของไทย โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความท้าทายจากหลายปัจจัยทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, กรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เขาใช้คำว่า synchronize slowdown คือ หลายปัจจัยมารวมกัน มายำกันในช่วงนี้ และดึงเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว จึงกระทบกับทุกประเทศ และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น” รมว.คลังกล่าว

พร้อมกันนี้ IMF ยังมองว่าประเทศไทยมีความโชคดีที่เศรษฐกิจมหภาคยังมีความแข็งแกร่ง จึงทำให้ยังมี space ที่จะใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้

“ในมุมมองของ IMF หลังจากที่เขาได้วิเคราะห์ประเทศไทยแล้ว เขาเห็นว่าไทยจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ และดูแลใกล้ชิด และที่สำคัญ คือ ให้พิจารณาใช้ทุกเครื่องมือที่มีเพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้ได้ ทั้งการเงินและการคลัง เหตุผลหลักคือ เรามีความแข็งแกร่ง เรามีความสามารถที่จะใช้ได้ และต้องใช้ให้ทันการณ์” นายอุตตม ระบุ

ส่วนการดูแลเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น IMF เน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และมองว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะ ทั้งด้านดิจิทัล และด้านต่างๆ ให้เพียงพอกับยุค New Economy

รมว.คลัง ระบุว่า ในการใช้มาตรการด้านการคลังเพิ่มเติมนั้นก็ได้มีการเตรียมศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าไว้บ้างแล้ว เพียงแต่การจะนำมาใช้ในช่วงเวลาใดนั้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบประกอบกับหลายปัจจัย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นมากที่สุด

“ในความเห็นส่วนตัว มองว่ามาตรการเฉพาะหน้าจะต้องเตรียมการไว้ เราศึกษาไว้รองรับ แต่ต้องดูจังหวะว่าเมื่อไรจะเหมาะสม และรูปแบบไหน ตอนนี้ยังไม่สรุป” นายอุตตม กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาส 2 แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ถือว่าดูแลเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ และยังมีผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย

“มาตรการที่ออกมาทำให้เม็ดเงินหมุนเวียน และช่วยเรื่องจิตวิทยาที่คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มขึ้น วันนี้มันเริ่มจะดี แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ซึ่งไอเอ็มเอฟจึงอยากให้ดูแลเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโต และสุดท้ายแล้วต้องตอบโจทย์คนในประเทศ จะทำแต่ต้นทางไม่ได้” นายอุตตม ระบุ

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2562 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศคึกคัก ประกอบกับแนวโน้มสถานการณ์สงครามการค้าที่น่าจะมีทิศทางดีขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ได้ แต่จะเติบโตได้เกิน 3% หรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน

ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังโตไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งระดับที่เติบโตเต็มศักยภาพควรอยู่ที่ 4% การที่รัฐบาลทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ก็เพื่อต้องการให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก

“ถ้าโตเต็มศักยภาพ ก็ประมาณ 4% แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป อยู่ที่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของเราให้ได้ เรื่องคน เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเหล่านี้จะไปช่วยขับเคลื่อน productivity ถึงจะใช้ศักยภาพได้เต็มที่” นายอุตตม กล่าว

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ลาออกจากประธานคณะกรรมการบริษัท บมจ. การบินไทย (THAI) ว่า จากนี้คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการในการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และยืนยันว่าไม่ได้มีการแทรกแซงทางการเมืองแต่อย่างใด เป็นการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งตามปกติ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันก่อนที่นายเอกนิติจะขอลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดแล้ว

Back to top button